เรียกได้ว่าช่วงที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานพยากรณ์อากาศประเทศไทย พบว่า มีความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมี “อากาศร้อนจัด” บางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยพบว่า ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดถึง 45.8 องศาเซลเซียส ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด บนโลกออนไลน์ได้มีการแชร์คำเตือนของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ที่เคยโพสต์เฟซบุ๊กไว้เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 65 เกี่ยวกับเรื่องของการเกิดลานีญา และ เอลนีโญ ระบุว่า

“#อัพเดทน้ำท่วมน้ำแล้ง (16 ธ.ค. 65) ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาอยู่ที่ 99% และคาดว่าจะลดกำลังและเปลี่ยนเป็นเฟสกลางช่วง ก.พ.-เม.ย. เอลนีโญจะค่อยๆ เพิ่มกำลัง และอาจกลับมาช่วงปลายปี 66 กรุงเทพฯ ปริมณฑล ตะวันออก ตะวันตก จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยปกติช่วง ม.ค.-ก.พ. 66 ฤดูแล้งปี 66 น่าจะไม่แล้งมาก แต่ฝนจะน้อยกว่าฤดูแล้งปี 65 และฤดูฝนปีหน้าน่าจะมาปกติ

ล่าสุด (15 ธ.ค. 65) ทาง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา ได้พยากรณ์ว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาอยู่ที่ 99%! ช่วง พ.ย. 65-ม.ค. 66 (ภาพ 2 ซ้าย) และจะค่อยๆ ลดลงจากนี้ไป กำลังของลานีญาจะค่อยๆ ลดลงด้วย (ภาพ 2 ขวา) โดยจะเปลี่ยนเป็นเฟสกลางด้วยความน่าจะเป็น 71% ช่วง ก.พ.-เม.ย. 66 จากนั้นช่วง ก.ค.-ก.ย. 66 ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญจะเพิ่มเป็น 49%! (แท่งสีแดงภาพ 2 ซ้าย) ดังนั้น เราอาจเจอเริ่มเจอภัยแล้งและอากาศร้อนกว่าปกติช่วงไตรมาส 4 ของปี 66 เป็นต้นไป

โดยภาพที่ 3 บ่งชี้ว่า ฤดูแล้งปี 66 น่าจะไม่แล้งมาก แต่ฝนจะน้อยกว่าฤดูแล้งปี 65 และฤดูฝนปีหน้าน่าจะมาปกติ ไม่เร็วมากเหมือนปี 65 ช่วง ม.ค.-มี.ค. อีสานช่วงตอนกลางและล่างจะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย และช่วง ก.พ.-เม.ย. เหนือ กลางบางส่วน และตะวันตกจะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ส่วนภาคใต้คาดว่าจะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติยาวไปถึง พ.ค. 66

ส่วนภาพที่ 4 บ่งชี้ว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล ตะวันออก ตะวันตก จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยปกติช่วง ม.ค.-ก.พ. 66 ด้วยอิทธิพลของลานีญา (พื้นที่สีฟ้าและน้ำเงินอ่อน) ขณะที่ภาคเหนือช่วง ม.ค.-เม.ย. 66 อากาศมีแนวโน้มร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีแดง) และช่วง ก.พ.-เม.ย. 66 อุณหภูมิมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ช่วง เม.ย.-มิ.ย. ภาคใต้ เหนือตอนบน และอีสาน (พื้นที่สีแดง) อากาศจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ เกษตรกรต้องระวังผลผลิตเสียหายให้มากจากฝนและอากาศหนาวเย็น อากาศจะเริ่มหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ และฝุ่นพิษ PM2.5 กำลังจะรุนแรงขึ้น รักษาสุขภาพทั้งคนและสัตว์เลี้ยงกันด้วยนะครับ #ClimateChange #Flood #Drought #NewNormal”..

ขอบคุณภาพประกอบ : Witsanu Attavanich