ประเพณีสงกรานต์ยังถือเป็น “วันขึ้นปีใหม่ของไทย” แม้ในปัจจุบันจะนับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทั้งนี้ เพราะลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่ยังคงปฏิบัติสืบสานต่อกันมาไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร อุทิศบุญแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ การสรงนํ้าพระ รดนํ้าขอพรผู้สูงอายุ ฯลฯ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวขึ้น” “ผ่าน” หรือ “เคลื่อนย้าย” ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปในอีกราศีหนึ่งซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน โดยเรียกว่า สงกรานต์เดือน

เว้นแต่เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดจะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” อันหมายถึง การก้าวขึ้นครั้งใหญ่ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ ถือเป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์ ซึ่งเป็นการนับทางสุริยคติมักตกในราววันที่ 13 วันที่ 14 หรือวันที่ 15 เมษายน และแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ โดยถ้าถัดจากวันมหาสงกรานต์เรียก วันเนา และ วันเถลิงศก ตามลำดับ ซึ่งวันดังกล่าวตรงกับวันใดนั้นดูได้จากประกาศสงกรานต์ของแต่ละปี

ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยยังถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนในครอบครัวและชุมชนจะได้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน และด้วยเป็นวันขึ้นปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ทั้งเปลี่ยนผ่านจากศก หรือจุลศักราชเก่าไปสู่ศกใหม่ เป็นช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งประเพณีสงกรานต์ยังเป็น วันแห่งการแสดงความเคารพ แสดงความระลึกถึงผู้สูงอายุในครอบครัว โดยช่วงเวลานี้มี “วันครอบครัว” และ “วันผู้สูงอายุ” พร้อมรวมอยู่

เมื่อพูดถึงวันปีใหม่ การเริ่มต้นปีไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ไทยหรือปีใหม่สากลจะเริ่มต้นทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นมงคลสิ่งที่ดีงาม ในเทศกาลสงกรานต์ก่อนวันสงกรานต์จึงเป็นการเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน ทำความสะอาดหิ้งพระ เก็บสิ่งของที่ไม่เป็นระเบียบ หรือทำอาหารเพื่อเตรียมไปทำบุญ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งดี ๆ ต้อนรับปีใหม่

พอถึงวันสงกรานต์ กิจกรรมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณจะทำบุญให้ทานรักษาศีลโดยนับแต่รุ่งเช้าจะตักบาตรถวายภัตตาหาร ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ สรงนํ้าพระพุทธรูป ซึ่งแต่เดิมพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะอยู่ที่วัดจะมีการแห่อัญเชิญพระพุทธรูปในพระอุโบสถนำมาให้ได้สักการะ ในบ้านเรือนก็เช่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะสรงนํ้าพระพุทธรูปในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล

ขณะที่บางวัดมี การก่อเจดีย์ทราย ทำนุบำรุงศาสนสถานโดยนำทรายไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ ตามคติโบราณอธิบายว่า สมัยก่อนกิจกรรมต่าง ๆ มีขึ้นที่วัด เศษดินทรายอาจติดออกมา เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จึงมีการขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทรายร่วมกัน โดยเป็นการทำบุญทำสิ่งที่เป็นมงคลร่วมกัน เป็นต้น และนอกจากสรงนํ้าพระพุทธรูปด้วยนํ้าอบเพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่

สรงนํ้าพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ อีกหนึ่งกิจกรรมเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความเป็นสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงาม ทั้งนี้ในเทศกาลมหาสงกรานต์ปีนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครอัญเชิญ พระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคลมาเป็นประธานในพิธีพร้อมด้วยเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตามความเชื่อโบราณให้สักการะและสรงนํ้าขอพร ในวันที่ 12-14 เมษายน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดู จากที่กล่าวเทวดานพเคราะห์ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคน ทั้งนี้ แต่ละคน
เมื่อเกิดมาจะมีเทวดานพเคราะห์ประจำวันเกิด และในแต่ละช่วงชีวิตเทวดานพเคราะห์จะหมุนเวียนเข้าเสวยอายุ กำหนดปีการเสวยอายุตามกำลังของเทวดาแต่ละองค์ ซึ่งจะส่งผลร้ายหรือดีต่อมนุษย์ขึ้นอยู่กับประเภทของเทวดานพเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายบาปเคราะห์หรือศุภเคราะห์”

เทวดานพเคราะห์ 9 องค์ ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นพาหนะ พระจันทร์ ทรงอาชา พระอังคาร ทรงกระบือ พระพุธ ทรงช้าง พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงเสือ พระราหู ทรงครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค โดยนอกจากการอัญเชิญประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ชุดนี้ ซึ่งมีความสำคัญออกมาให้สักการะและสรงนํ้าขอพรใกล้ชิด อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงนิทรรศการฯ บอกเล่าเรื่องเทวดานพเคราะห์ ทั้งนี้ นำเรื่องน่ารู้จากภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ฯ พระนครซึ่งเล่าถึงการสรงนํ้า อธิบายถึงเทวดานพเคราะห์ในเบื้องต้นว่า ในวันปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ตามประเพณีไทยจะสรงนํ้าพระพุทธรูปรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่และด้วยที่ช่วงสงกรานต์อากาศร้อน นํ้าจึงเป็นสื่อทั้งความเป็นมงคล สื่อความเคารพ ความเอื้ออาทร ฯลฯ

“การบูชานพเคราะห์เดิมทีปรากฏอยู่ในศาสนาฮินดู โดยวันเกิดของเราทุกคนมีเทวดาปกปักรักษา ด้วยแนวคิดดังกล่าวที่แต่ละคนมีเทวดาประจำวันเกิดของตัวเอง ในช่วงชีวิตที่ผ่านไปแต่ละปีเทวดาแต่ละท่านจะแวะเวียนมาในเรือนชะตาให้ทั้งคุณและโทษ ซึ่งอาจเคยเห็นการสวดรับนพเคราะห์ก็เพื่อให้ท่านได้บรรเทาโทษแก่เราและอำนวยพรให้คุณแก่เราเพิ่มขึ้น ในเทศกาลสงกรานต์ จึงอัญเชิญนำออกมาให้สรงนํ้าสักการะขอพร เริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล”

แนวคิดเรื่องเทวดานพเคราะห์เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็ได้ปรับเข้ากับตำราไทย มีตำราที่พูดถึงนพเคราะห์ การกำเนิดนพเคราะห์ที่มีความต่างจากอินเดีย โดยกล่าวถึงผู้ที่สร้างนพเคราะห์ต่าง ๆ คือ พระอิศวร จะเห็นว่าช่วงสงกรานต์แฟร์ที่เพิ่งผ่านไป ได้นำเสนอความรู้ ทั้งมีส่วนแสดงนิทรรศการนพเคราะห์เล่าเรื่องไว้บ้างเล็กน้อย ขณะที่นิทรรศการครั้งนี้อธิบายเล่าเรื่อง บอกความหมายเพิ่มส่วนกำเนิดนพเคราะห์ที่ปรากฏในศาสนาฮินดู เล่าความเชื่อดั้งเดิม วัฒนธรรมประเพณีเพิ่มขึ้น

เทวดานพเคราะห์ ชุดนี้เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ รูปแบบประติมากรรมมีความพิเศษ หล่อขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย โดยที่สำคัญใช้วัสดุเป็นทองเหลือง ไม่ใช่สำริดที่ใช้กันมายาวนาน โดยวัสดุทองเหลืองมีการนำมาใช้ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็พออนุมานได้ว่าเทวดานพเคราะห์ชุดนี้น่าจะได้รับการสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 หรือในช่วงต้นรัชกาลที่ 5

อีกทั้ง การอัญเชิญ พระธาตุในพระกรัณฑ์ทองคำ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเศียรพระพุทธสิหิงค์ ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นำมาให้สรงนํ้าอย่างใกล้ชิด นอกจากได้รับความเป็นสิริมงคล ยังได้ชมความงามของศิลปกรรม อีกทั้งได้จัดแสดงบัตรพลีทองเหลืองและภาพถ่ายเก่าแสดงให้ชมควบคู่กัน”

อีกความงดงามความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่ โดยนํ้าเป็นสื่อแสดงความเคารพ ความเอื้ออาทร ความกตัญญู โดยสมัยก่อนจะอาบนํ้าผู้เฒ่าผู้แก่และนำผ้าผืนใหม่มามอบให้ ในปัจจุบันอาจย่นย่อลงเหลือเพียงการรดนํ้าขอพรโดยนํ้าอบ นํ้าลอยดอกมะลิที่มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจนำมาขอพรเป็นสิริมงคล อีกทั้ง “นํ้า” ยังมีความหมายในตัว สื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าประเพณีสงกรานต์

ประเพณีงดงามที่มีนํ้าเป็นสื่อส่งมอบไมตรีความปรารถนาดีต่อกันแบบไทย.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ