เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 6 คน เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศในช่วงเวลานี้ว่า การที่มีพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง จริงๆ กกต.ทั้ง 6 คน ควรอยู่ภายในประเทศ เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีปัญหาแทบจะทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้มีปัญหาอย่างน้อย 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องรอการตัดสินใจโดยด่วนของ กกต.ทั้งหมด 1.เรื่องกาขยายระยะเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งหมดไปตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 66 แต่ปรากฏว่าระบบลงทะเบียนเกิดล่มในวันสุดท้ายของการขอใช้สิทธิ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเสียสิทธิในการลงเทียนเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งหาก กกต.อยู่ก็สามารถประชุมลงมติขยายเวลาออกไปได้ แต่ กกต.ไม่อยู่ก็หมดสิทธิขยายเวลา ถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรง

2.ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ว่าอาจเป็นนโยบายที่ขัดกฎหมายหลายประการ หลายฉบับ ซึ่งต้องให้ กกต.วินิจฉัยว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามมาตรา 57 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 ที่ต้องอธิบายที่มาของเงิน การได้ประโยชน์ เสียประโยชน์อย่างไร เพื่อให้พรรคที่สำเสนอสามารถใช้หาเสียงต่อได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อ กกต.ไม่อยู่ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครวินิจฉัย เลขาธิการ กกต. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้โดยตรง การที่ กกต.ทั้งหมดไปต่างประเทศอ้างว่าไปดูงานนั้น ตนว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ถ้าจะดูงานทำไมไม่ดูให้ครบทุกประเทศที่คนไทยไปอยู่ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ กกต.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ น่าจะเข้าข่ายความผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงจะนำความเรื่องนี้ไปร้องต่อ ป.ป.ช. ประมาณวันพุธหน้า เวลา 10.00 น.

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ที่บอกว่าสามารถประชุมออนไลน์กันได้ จริงๆ ควรรีบประชุมและมีมติกัน เพราะโดยกฎหมายระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง ข้อที่ 118 กำหนดว่า การจัดการล่วงตั้งล่วงหน้า ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนวันล่วงหน้า 30 วัน ดังนั้น พอหมดวันที่ 9 เม.ย. ก็ยังมีเวลาอีกตั้ง 1 สัปดาห์ หาก กกต.อยู่หรือมีมติ ก็สามารถขยายต่อไปได้อีก จนถึงวันที่ 14 เม.ย. ทำให้คนที่เข้าระบบได้ แต่นี่ กกต.ไม่อยู่ เลขาฯ กกต.ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แล้วจะมาอ้างว่ามีการประชุมออนไลน์ แล้วทำไมไม่จัดประชุม หรือแสดงให้ประชาชนรับรู้เป็นที่ประจักษ์ว่าได้ดำเนินการแล้วว่ามีการประชุมออนไลน์ มีระบบแต่ไม่ใช้ ระบบมันก็ไม่เกิด ประชุมอยู่ เพราะถ้ามีประชุมจริงก็ต้องมีมติว่าตกลงจะขยายเวลาลงทะเบียนหรือไม่ แต่นี่เงียบหายไปเลย แสดงว่าไม่มีการประชุมจริง แล้วถ้าจะทำจริง วันนี้ วันที่ 13 เม.ย. ก็ยังมีเวลาอีก 1 วัน ซึ่ง 1 วันนี้ ก็มีประโยชน์มหาศาล ถ้าคนคิดจะไปลงทะเบียนล่วงหน้า

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณี กกต. 6 คน เดินทางไปตรวจติดตามดูงานการเตรียมการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในต่างประเทศ โดยระบุว่า การเดินทางไปดูงานการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นไปตามโครงการการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งจัดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร เพื่อตรวจติดตาม การเตรียมความพร้อม รับฟังสภาพปัญหา รวมทั้งการบริหารจัดการการเลือกตั้งในแต่ละประเทศที่มีข้อจำกัดแตกต่างกันตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ ลักษณะภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

หรืออาจนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนดำเนินการสำนักงาน กกต.ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศมาโดยตลอดถึงวิธีการที่จะทำให้การเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบรรลุตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด

ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือเชิญ กกต.เดินทางไปเข้าร่วมโครงการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ของสถานทูต และสถานกงสุลในประเทศต่างๆ ซึ่ง กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ในโอกาสต่อไป จึงได้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการ (ตารางรถไฟ) ที่ได้กำหนดไว้แล้ว รวมถึงไม่เป็นภาระในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานทูต หรือสถานกงสุลในประเทศต่างๆ จึงกำหนดเดินทาง ระหว่างวันที่ 4-24 เม.ย. 66 ซึ่งแต่ละเส้นทางไม่ได้เดินทางพร้อมกัน และแต่ละเส้นทางจะมี กกต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น เพียง 4-5 คน เท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว กกต.ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อให้สำนักงาน กกต. และหน่วยงานสนับสนุนดำเนินการไว้หมดแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเดินทางไปต่างประเทศ แต่หากมีเรื่องเร่งด่วน ก็สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้   

อนึ่ง กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเดินทางไปต่างประเทศของ กกต.ในครั้งนี้ ทำให้ไม่สามารถพิจารณาคำร้องเรื่องการหาเสียงตามนโยบายให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท และการขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น ขอชี้แจงว่า ข้อสังเกตดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คือ 1.กรณีคำร้องนโยบายการหาเสียงการให้เงินทางดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการยื่นคำร้องว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องสำนักงาน กกต. ได้รายงานให้ กกต.ทราบเบื้องต้นแล้ว และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดก่อน จึงจะเสนอให้ กกต.พิจารณาต่อไป ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลาและขั้นตอนที่กำหนด ไม่อาจยกขึ้นมาพิจารณาได้ทันที ประกอบกับขณะนี้มีพรรคการเมืองรายงานเรื่องนโยบายที่ใช้หาเสียงตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพียง 6 พรรคการเมือง จากจำนวนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 70 พรรคการเมือง หรือบางพรรคการเมืองยังอยู่ในระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้

2.การขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า กรณีเกิดปัญหาผู้ลงทะเบียนบางส่วนไม่อาจลงทะเบียนได้ในช่วงเวลา 21.00-24.00 น. ของวันที่ 9 เม.ย. 66 เนื่องจากข้อจำกัดของระบบที่มีศักยภาพในการรองรับการเข้าใช้งานลงทะเบียนพร้อมกันเพียง 5,000 คน ต่อ 1 วินาที ถ้าสูงเกินกว่าจำนวนดังกล่าวจะทำให้ระบบล่าช้า สำนักงาน กกต. ได้เรียนให้ กกต.ทราบตั้งแต่เกิดเหตุและต่อเนื่องมาเป็นลำดับ พร้อมทั้งได้ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข โดยได้ข้อสรุปว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวระบบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนแต่แสดงผลว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จไว้ ซึ่งระบบสามารถดึงข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียนดังกล่าวมาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้เกือบทั้งหมด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขยายเวลาลงทะเบียนออกไป และได้รายงานให้ กกต.ทราบแล้ว.