หลังผ่านช่วงสงกรานต์มานี้ ข่าวที่ไม่สู้จะดีเท่าไรนัก คือ บรรดาธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐหลายแห่งประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างพร้อมเพียงกัน ทำให้คนที่เป็นหนี้เป็นสิน โดยเฉพาะการกู้บ้านที่อยู่อาศัย เป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ

อย่างไรก็ตาม วิธีรับมือกับปัญหานี้ ในกรณีหากมีเงินงวดเพิ่มขึ้นจนผ่อนไม่ไหว หรือจ่ายเท่าเดิมแต่ตัดต้นน้อย จ่ายดอกเยอะ  มีคำแนะนำให้ลูกหนี้ ดำเนินการดังนี้

  1. รีบไปเจรจากับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ในปัจจุบัน เพื่อขอลดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ หรือคุยขอปรับโครงสร้างเงินกู้ให้ยาวกว่าเดิม ซึ่งทุกแบงก์ยินดีที่จะให้ลูกค้าเข้ามาคุยเพื่อรับดอกเบี้ยที่ถูกลง
  2. แต่หากแบงก์เดิมลดดอกเบี้ยให้น้อย ไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ลองมองหาทางรีไฟแนนซ์ ไปสถาบันการเงินแห่งใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่า

ข้อแนะนำ ในการรีไฟแนนซ์บ้าน

  • ควรเป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินเหลือเยอะ หรือมีระยะเวลาผ่อนยาวพอสมควร รวมถึงไม่ติดเงื่อนไขการปิดบัญชีที่จะต้องเสียค่าปรับจากธนาคารเดิมมาก
  • ถ้าวงเงินเหลือก้อนเล็กอาจไม่คุ้มกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องจ่ายไปเวลารีไฟแนนซ์ เช่น ค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าปรับ ค่าวงเงินสินเชื่อ เป็นต้น
  • ขณะเดียวกัน ในการเลือกโปรโมชั่น สินเชื่อที่จะรีไฟแนนซ์  ผู้กู้ควรคำนวณดอกเบี้ยระยะยาวอย่างรอบคอบ เพราะหลายธนาคารมักทำทางการตลาด จูงใจใช้ดอกเบี้ย 0% หรือดอกเบี้ยคงที่ 1-2% เป็นตัวดึงดูด แต่ให้ดอกคงที่เพียงแค่ 3-6 เดือน แต่หลังจากนั้น 4-5 ปี ก็คิดดอกเบี้ยเต็มแบบกึ่งลอยตัวในอัตราสูง ซึ่งเฉลี่ยรวมๆ แล้วอาจเสียดอกแพงกว่าเดิมไม่คุ้มค่า
  • พิจารณาดูเงื่อนไขที่แอบซ้อนอยู่ เช่น การบังคับห้ามรีไฟแนนซ์ หรือรีดอกเบี้ย เป็นเวลานาน เช่น 5-7 ปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่นานเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตหากเราเผชิญความไม่แน่นอน ต้องการขายเปลี่ยนมือ หรือย้ายแบงก์ ก็ต้องเสียค่าปรับซึ่งไม่คุ้มค่า
  • การเลือกรีไฟแนนซ์ที่ดี ควรคำนวณดอกเบี้ยเฉลี่ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3-5 ปีว่า เฉลี่ยแล้วถูกจริงแค่ไหน
  • เลือกระยะเวลาการปิดบัญชี หรือย้ายบัญชี ที่ไม่นานเกินไป เช่น ควรอยู่ในช่วง 3-4 ปี
  • ดูโปรโมชั่น ของแถม เช่น การให้ฟรีค่าธรรมเนียมการรีไฟแนนซ์ อย่างฟรีค่าจดจำนอง ค่าประเมิน ค่าจดนิติกรรม ค่าธรรมเนียมกู้ หากมีก็ช่วยให้การรีไฟแนนซ์ประหยัด เงินผ่อนบ้านให้น้อยลง หรือเสียดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม