ล่าสุด “หมอยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์ว่า การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 เพิ่งจะเริ่มต้น และจะสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. ถึงจุดสูงสุดเดือน มิ.ย. จนเดือน ก.ย. จึงจะลดลงตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือกันอีกครั้ง

ท่ามกลางเรื่องปวดใจกับ “ค่าไฟแพง” ทำเอาคนไทยต้องปาดเหงื่อสู้เป็นแถว เพราะหากจะเลือกอยู่นอกบ้านก็เจอปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และเมื่อกลับมาที่บ้านก็เจอปัญหาค่าไฟมหาโหด ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนผ่าว จนทำเอาคนไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปตามๆ กัน

ทางเลือกที่สำคัญสำหรับประชาชนในเวลานี้ คือ การใช้วาระสำคัญ ในวันที่ 14 พ.ค. ในการตัดสินใจ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เลือกนโยบายที่ใช่ เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศด้วยตัวเอง!

โดยบรรยากาศสังเวียนหาเสียงเลือกตั้งตอนนี้ อุณหภูมิกำลังพุ่งๆ ไม่แพ้สภาพอากาศ โดยเฉพาะการรุมถล่มนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการ “จองกฐิน” เตรียมยื่นยุบพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้ง กับปมร้อน เหรียญดิจิทัลส่อขัดพระราชบัญญัติเงินตรา

แม้ พรรคเพื่อไทย จะเรียงหน้าโต้ว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจเจอลากเข้าเกมตัดตอนยุบพรรค!!!

เพราะนาทีนี้เรียกได้ว่าอะไรก็ฉุดพรรคเพื่อไทยไม่อยู่ สังเกตได้จากเรตติ้งจากผลโพลต่างๆ โดยเฉพาะโพล “เดลินิวส์ มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1” ซึ่งชี้ว่า เรตติ้งของพรรคเพื่อไทย ยังคงพุ่งสูงปรี๊ด โดยมีเสียงสนับสนุนนำมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 38.89 ตามด้วยอันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 32.37 และอันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 12.84 ขณะที่เรตติ้งแคนดิเดตนายกฯ ที่ร้อนแรงที่สุดกลับเป็น  พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ที่ได้เสียงสนับสนุนไปร้อยละ 29.42 โดยที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ตามมาติดๆ ด้วยเสียงสนับสนุนร้อยละ 23.23

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 66 ของ “เดลินิวส์ X มติชน” โดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า พรรคเพื่อไทย โดยมีนิยม 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 49.83% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43.91% ภาคตะวันออก 43.40% ภาคกลาง 43.29% และภาคตะวันตก 41.32% ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล ซึ่งได้อันดับที่ 2 ในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่มีความนิยมในอันดับ 1 ที่ 36.41% ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ดังนั้น จึงมีข้อสังเกตว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะได้รับความนิยมแบบแลนด์สไลด์ ยังดูจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีภูมิภาคใดเลยที่ได้มากกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม การเมืองหลังจากนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ อย่างล่าสุด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาโพสต์กำหนดท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ ในการร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า “พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหน” เป็นเรื่องที่ต้องรอให้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขเฉพาะหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปในนามมติพรรค ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาประกาศตัดสิน และยังย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐ จะตัดสินใจทุกเรื่องทุกอย่างด้วยเหตุผล ต้องร่วมกันก้าวข้ามความขัดแย้ง และขอให้เชื่อมั่นว่าจะตั้งรัฐบาลที่เป็นความหวังของประเทศอย่างดีที่สุดได้

นอกจากนั้น “บิ๊กป้อม” ยังได้ฉายภาพธรรมชาติการเมืองไทยว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ในทางปฏิบัติจริง มีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาซับซ้อน หลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ ซึ่งคนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไป ไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น “นี่คือความปกติของการเมืองไทย” การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า

เป็นการมองเกมข้ามชอตของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ส่งสัญญาณพร้อมเปิดดีลหลังเลือกตั้ง แบบ “ดีลทุกพรรค-รักทุกขั้ว”

ซึ่งงานนี้ “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้า พปชร. ถึงกับออกมาชู “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ Soft Power ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่จะทำให้ทุกคนมาทำงานร่วมกันได้ และสามัคคีกันได้ ท่ามกลาง ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดโต่ง ทั้งฝ่ายซ้ายจัด-ขวาจัด

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย กลับถูกมองว่า จะจะกลายมาเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการจับขั้วตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งงานนี้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล มีการตั้งเป้ากวาด ส.ส. 80-100 ที่นั่ง ซึ่งด้วยจำนวน ส.ส.ในระดับนี้ จะทำให้ขั้วที่พรรคภูมิใจไทยเลือกจับมือ กลายเป็นขั้วการเมืองที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้

ทั้งนี้ย้อนกลับไปในการจัดตั้งรัฐบาลปี 2562 จะเห็นได้ถึงการเดินเกมระหว่าง พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการปล่อยภาพการนัดกินข้าวกันก่อนจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างคีย์แมนสำคัญทั้ง 2 พรรค ซึ่งตอนนี้ทั้ง 2 พรรค “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่ง ณ เวลานี้ต่างก็มีการพูดคุยกันวงในว่าสัมพันธ์ยังเหมือนเดิม

ดังนั้น เกมการเมืองหลังจากนี้ คงจะต้องจับตาว่าใครได้แต้ม ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เรื่องที่จะต้องจับตาไม่แพ้กันก็คงเป็นการพลิกเกมหลังเลือกตั้ง ที่อาจจะทำให้พรรคอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาล อย่างที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่การจับขั้ว ผนึกกำลังทางการเมืองของแต่ละพรรค แต่ละฝ่าย

แต่สิ่งสำคัญที่พรรคการเมือง นักการเมืองควรคำนึงถึง คือไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ขอให้ยืนอยู่บนพื้นฐานของการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก.