ค่าไฟแพง!!! กลายเป็นกระแสร้อนแรงของสังคมไทยอยู่ในเวลานี้ ที่พอเห็นบิลค่าไฟแล้วลมแทบจับ ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟพุ่งขึ้นกว่า 1- 2 เท่า จนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ งัดบิลออกมาร่วมแชร์ประสบการณ์ค่าไฟแพงมหาโหด แบบในชีวิตไม่เคยต้องควักจ่ายแพงขนาดนี้มาก่อน

หลายคนตั้งคำถาม? พฤติกรรมการใช้ไฟก็เหมือนเดิม เปิดทุกอย่างแบบเดิม แต่ทำไมค่าไฟแพงขึ้นก้าวกระโดดขนาดนี้ บางรายบอก บ้านก็ไม่ค่อยอยู่ หลังคาก็ติดแผงโซลาร์ แต่ทำไมค่าไฟยังกระฉูดแบบนี้!!! ถึงขนาดมีการตั้งข้อสังเกต การไฟฟ้าจดมิเตอร์ผิดหรือไม่? นานาสารพัดคำถามรุมกระหน่ำปัญหาค่าไฟแพงเต็มหน้าโซเชียลเวลานี้

Free photo man cunting the stack of coins

แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาชี้แจงสาเหตุ ทำไมค่าไฟช่วงนี้แพง…แพ้ง…แพง! พร้อมยืนยันหนักแน่นปฏิเสธว่า การไฟฟ้า ไม่ได้แอบขึ้นราคา ค่าไฟฟ้าที่บ่นกันว่า แพง ๆๆๆ ในเวลานี้ ยังเป็นค่าไฟฟ้าอัตราเดิมที่ใช้มาตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. นี้ โดยอัตราค่าไฟประเภทครัวเรือน ยังคงอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท ยังไม่ได้เป็นอัตราค่าไฟงวดใหม่เดือน พ.ค.-ส.ค. ที่ ณ เวลานี้ประกาศไว้ว่า อยู่ที่หน่วยละ 4.77 บาท ที่ยังแพงกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ แม้เบื้องต้นกำลังทำตัวเลขใหม่เพื่อลดค่าไฟให้เหลือหน่วยละ 4.70 บาทก็ตาม นั่น!! ก็เท่ากับว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศนั้น ได้รับส่วนลดค่าไฟลงจากเดิมแค่หน่วยละ 2 สตางค์เท่านั้น มองแล้ว จะอย่างไรค่าไฟประเทศไทยก็ยังแพงแล้ว แพงอยู่ แพงต่อไปอยู่ดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม ที่ค่าไฟคิดแค่หน่วยละ 2.88 บาท!!!

แจงแต่ไม่พร้อมเข้าใจ

แล้วที่พยายามออกมาอธิบาย ที่ประชาชนเห็นว่า แพงขึ้น? ทั้งที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเหมือนเดิมนั้น เป็นเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน จะทำงานหนักใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติ เช่น ปกติอุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ถ้าปรับอุณหภูมิแอร์ห้อง 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส แต่ช่วงอากาศร้อนจัด อย่างอุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส ถ้าตั้งแอร์เท่าเดิมที่ 26 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียส ส่งผลให้แอร์ทำงานหนักกินไฟมากกว่าเดิม ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย ทุกอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น 3%

แม้เป็นตรรกะที่พอเข้าใจได้…แต่ประชาชน ก็ยังไม่พร้อมที่จะเข้าใจ!!! เพราะเห็นบิลค่าไฟที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว ยังทำใจกับชะตากรรมไม่ได้ จึงมีการตั้งคำถามถึงต้นตอปัญหา เพราะอะไร?กันหรือ ทำไมค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ถึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ลักษณะภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์หลาย ๆ อย่างคล้ายกัน ปกติค่าไฟไม่น่าจะหนีไปกว่ากันมาก แต่ทำไมเพื่อนบ้านถึงเก็บไม่ถึงหน่วยละ 3 บาท แต่ของไทย หน่วยละเกือบ 5 บาท

ขุดต้นตอปัญหารัฐบริหารห่วย

ยิ่งล้วงลึกถึงต้นตอปัญหาค่าไฟแพง ที่ทั้งภาคเอกชน สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาแฉยับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ถูกแก้ไขมากนัก บางปัญหากลับถูกซ้ำเติมเข้าไปอีก ทุกฝ่ายฟันธงตรงกัน ด้วยประโยคเดียวกัน คือ “ค่าไฟแพง เพราะรัฐบาลบริหารผิดพลาด ทำให้ประชาชนต้องมาทนรับกรรมไม่รู้จบแบบนี้”

ผิดพลาดตั้งแต่การทำสัญญาซื้อไฟต่อเนื่อง จนทำให้ปริมาณไฟสำรองของไทยล้นระบบ ปี 65 ใช้ไฟอยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ แต่มีไฟสำรองถึง 5.05 หมื่นเมกะวัตต์ หรือสำรองไฟสูงถึง 54% มีการคาดการณ์กันว่า ล่าสุดปี 66 มีกำลังไฟฟ้าล้นสูงถึง 62% แม้ตัวเลขทางภาครัฐจะออกมาชี้แจงว่า ปริมาณไฟสำรองของไทย อยู่ที่ 36% ตัวเลขทั้ง 2 ตัวนี้ ยังต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไป

ถามว่า มีไฟสำรอง ดีไม่ใช่หรือ? เพราะประเทศจะได้มั่นคงทางด้านพลังงานสูง ๆ ก็ต้องตอบว่า ดี แต่ก็แค่ครึ่งเดียว เพราะตามหลักความจริง ไฟสำรองไม่ควรเกิน 15% ก็เพียงพอแล้ว แต่ของไทยบานไปกว่า 50-60% หรือตัวเลขของภาครัฐ 36% ก็ตาม เท่ากับว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายบานทะโร่ตามมา โดยเฉพาะค่าความพร้อมจ่าย ที่เป็นสัญญาของโรงไฟฟ้าเอกชน ไม่ว่าจะเดินเครื่องผลิตไฟ หรือไม่ผลิตไฟ เราก็ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน

เคยมีการประเมินตัวเลขคร่าว ๆ ค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้สูงถึง 40,000 ล้านบาท นี่ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ อีกจำนวนมาก เท่ากับว่า ประกันรายได้ให้เอกชน แล้วผลักภาระมาในค่าไฟฟ้าของประชาชนตาดำ ๆ นั่นเอง…จึงมีการพูดกันว่า ไม่แปลกใจ ทำไมกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนถึงได้กำไรกันจุก ๆ แม้ว่า กลุ่มโรงไฟฟ้าจะออกมาชี้แจงว่า กำไรมาจากหลายส่วน ไม่ใช่แค่ขายไฟเท่านั้นก็ตาม

Free photo lit light bulb with graph background

สุดงงไฟล้นยังเปิดซื้อไฟใหม่

ล่าสุดรัฐบาลยังเปิดไฟสีเขียวซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชน เพิ่มอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันเปิดรับซื้ออยู่แล้ว 5,203 เมกะวัตต์ และยังมีการเปิดโรงไฟฟ้าบางแห่งเพิ่มเติมอีก เป็นที่ฉงนว่า ที่มีอยู่ยังไม่มั่นคงเพียงพออีกหรือ??? แม้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ จะเดินเครื่องอีกหลายปีก็ตาม แต่ก็อดถูกเอกชนตั้งคำถามไม่ได้ เวลานี้มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้นหรือไม่ และเอกชนที่ได้รับสิทธิหลาย ๆ โครงการ ก็เป็นเอกชนรายใหญ่หน้าเดิม ๆ!!!

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคาหน่วยละ 3-9 บาทต่อหน่วย แต่ กฟผ. นำมาขายส่งให้การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพีอีเอ หน่วยละ 2.75 บาท ทั้งที่หาก กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเอง ประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าถูกกว่านี้ แต่ทำไม่ได้…เพราะปัจจุบันนโยบายรัฐบาลต่าง ๆ ที่ออกมา ส่งผลให้ กฟผ. รัฐวิสาหกิจเดียวที่ผลิตไฟของประเทศไทย เหลือสัดส่วนการผลิตไฟประมาณ 30% นิด ๆ เท่านั้น ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าของภาคเอกชน เป็นผู้ผลิตไฟกว่า 60-70% ทำให้ต้นทุนการซื้อไฟราคาสูง ถูกผลักมาให้ประชาชนอยู่ดี

Photo bangkok thailand may 15 2022 electric measuring power meter for energy cost at home and office

ทำไมต้องคิดแอลเอ็นจีแพง

นอกจากนี้ภาคเอกชน ยังได้เปิดตัวเลขที่ทำให้การคำนวณค่าไฟงวดใหม่ต้องแพงไปถึง 4.77 บาท เป็นเพราะคิดค่าประมาณการนำเข้าแอลเอ็นจี คำนวณที่ราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นราคาเฉลี่ยเดือน ม.ค. 66 แต่เวลานี้ราคาตลาดลดลงไปที่13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูแล้ว ทำไมไม่นำราคาใหม่มาคำนวณ ผลต่างจะทำให้ค่าไฟถูกลงถึง 9% หรือเหลือแค่ 4.34 บาท เมื่อรวมกับการยืดชำระหนี้ กฟผ. ออก ลดอีก 7 สตางค์ จะเหลือ 4.27 บาท ไม่ใช่แค่ 4.70 บาท ตามที่ กกพ. กำลังอนุมัติ

ทางออกที่ถูกถึงกันมากเวลานี้ คือ รัฐควรพิจารณาให้ดีเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองยิ่งล้นระบบ จนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่จะถูกผลักมาให้ประชาชนในค่าไฟอีกจำนวนมาก รวมทั้งควรสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อย่างเสรี หาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ๆ ควบคุมคุณภาพการติดตั้งอุปกรณ์ไม่ให้ประชาชนโดนหลอกจากของถูก แต่ไร้คุณภาพ

ขอโซลาร์หักลบค่าไฟตรง

ถ้าเป็นไปได้ควรเปิดให้หักลบกลบหน่วยกับค่าไฟได้ เช่น บ้านเราผลิตไฟได้ 300 หน่วย ใช้ไฟจริง 500 หน่วย ก็ให้จ่ายแค่ 200 หน่วย จะทำให้ประชาชนที่ติดแผงโซลาร์ค่าใช้จ่ายถูกลงทันที เพราะค่าไฟที่ต้องจ่ายให้รัฐหน่วยละ 4.72 บาท แต่ขายไฟให้รัฐได้แค่ 2.20 บาทกว่า ทั้งที่ประชาชนผลิตไฟใช้ได้เอง

รวมทั้งข้อเสนอรื้อคำนวณกรอบค่าเอฟทีใหม่เป็นการชั่วคราวในช่วงภาวะราคาพลังงานผันผวน จากเดิมใช้งวดละ 4 เดือน คือ 4 เดือนนี้แม้ราคาพลังงานจะเปลี่ยนอย่างไร ราคาทุกอย่างจะนิ่งเหมือนเดิม ให้เหลือ 2-3 เดือนได้หรือไม่ ให้สะท้อนต้นทุนปัจจุบันมากที่สุด

แต่ก็ต้องชั่งใจระหว่างข้อดี ข้อเสีย คือ ข้อดี ถือเป็นการสะท้อนใกล้เคียงต้นทุนจริง ในกรณีราคาพลังงานลดต่ำเร็ว แต่ข้อเสีย ค่าไฟจะไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงเร็ว อาจส่งผลเสียต่อการคำนวณต้นทุนของภาคธุรกิจ

Photo sunset glow reflected on solar panels with bangkok skyline

ร้องจดไฟแพงเกิดหน้าร้อน

ขณะเดียวกันในโลกโซเชียล เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตมากขึ้นว่า การจดบิลไฟฟ้าผิด มักเกิดในช่วงหน้าร้อน? เกรงกันว่า เรื่องราวเช่นนี้ จะเป็นการฉวยโอกาสหรือไม่ เพราะประชาชนอาจคิดว่า ช่วงหน้าร้อน ยังไงค่าไฟก็แพงกว่าปกติ ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกกระจายขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าเรื่องนี้จะมีการยืนยันถึงมาตรฐานในการจดมิเตอร์ก็ตาม แต่ประชาชนเอง ก็ต้องใส่ใจดูแลบิลค่าไฟของตัวเองด้วยว่า จำนวนหน่วยผิดปกติหรือไม่อย่างไร เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ถ้าเห็นอะไรผิดปกติ ก็ควรรีบแจ้งทางการไฟฟ้าฯให้ตรวจสอบทันที เพราะอาจเกิดจากไฟรั่ว หรือเกิดจากการจดผิดจริง ๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้…ถ้ารัฐบาลยังไม่คิดจะเร่งรื้อโครงสร้างค่าไฟใหม่ ยังยึดติดกับระบบเดิม ๆ ที่ถูกประชาชน เอกชนตราหน้าว่า เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน โดยไม่เห็นหัวประชาชน เชื่อว่า ค่าไฟงวดต่อ ๆ ไป ก็จะเจอปัญหาซ้ำซาก ไม่ใช่กระทบแค่เงินในกระเป๋าประชาชนเท่านั้น ตอนนี้กำลังบานปลายไปถึงความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศไทย เพราะต้นทุนค่าไฟแพง เริ่มมีการเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นกันแล้ว สุดท้ายประเทศไทยจะยิ่งบอบช้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ!!

เปิดทริคลดค่าไฟแบบจุก ๆ

ปัญหาค่าไฟแพง ในยามที่สภาพอากาศร้อนเช่นนี้ “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” ได้รวบรวมเทคนิค วิธีการ ในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ประหยัดไฟมากที่สุด เพราะอย่างน้อย ณ เวลานี้ การดูแลตัวเองก็สำคัญไม่น้อย!! เริ่มจาก…

การหันมาใช้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ แทนหลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบผอม ขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ มีความสว่างเท่ากับ หลอด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ แต่ประหยัดไฟกว่า และสามารถใช้แทนกันได้, หลอดแอลอีดี ใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ และให้แสงสว่างเท่าหลอดไฟแบบฟลูออเรสเซนต์ และหลอดไส้

เตารีด ถือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทให้ความร้อน การรีดแต่ละครั้งจะกินไฟมาก ดังนั้นควรรู้วิธีใช้อย่างประหยัดและปลอดภัย ตั้งปุ่มปรับความร้อนให้เหมาะสมกับชนิดของผ้า, อย่าพรมน้ำจนเปียกแฉะ, ดึงเต้าเสียบออกก่อนจะรีดเสร็จประมาณ 2-3 นาที แล้วรีดต่อไปจนเสร็จ, ควรพรมน้ำพอสมควร, ถอดปลั๊กออกเมื่อไม่ได้ใช้, ควรรีดผ้าคราวละมาก ๆ ติดต่อกันจนเสร็จ ควรเริ่มรีดผ้าบาง ๆ ก่อน ขณะเตารีดยังไม่ร้อน ควรดึงปลั๊กออกก่อนรีดเสร็จเพราะยังร้อนอีกนาน ควรซักและตากผ้าโดยไม่ต้องบิด จะทำให้รีดง่ายขึ้น

พัดลม เปิดความเร็วลมพอควร เปิดเฉพาะเวลาใช้งาน ควรเปิดหน้าต่างใช้ลมธรรมชาติแทนถ้าทำได้

เครื่องเป่าผม เช็ดผมก่อนใช้เครื่อง ควรขยี้และสางผมไปด้วยขณะเป่า

เครื่องดูดฝุ่น ควรเอาฝุ่นในถุงทิ้งทุกครั้งที่ใช้แล้วจะได้มีแรงดูดดี ไม่เปลืองไฟ

ตู้เย็น ตู้แช่ ตั้งอุณหภูมิพอสมควร นำของที่ไม่ร้อนใส่ตู้เย็น ปิดประตูตู้เย็นทันทีเมื่อนำของใส่หรือหยิบออก ปิดประตูตู้เย็นให้สนิท หากยางขอบประตูรั่วให้รีบแก้ไข เลือกตู้เย็นหรือตู้แช่ชนิดมีประสิทธิภาพสูง ควรตั้งตู้เย็นให้ห่างจากแหล่งความร้อน ให้หลังตู้ห่างจากฝาเกิน 15 ซม. เพื่อระบายความร้อนได้สะดวก ไม่เปลืองไฟฟ้า หมั่นทำความสะอาดแผงระบายความร้อน เก็บเฉพาะอาหารเท่าที่จำเป็น ตู้เย็นแบบประตูเดียวกินไฟน้อยกว่าแบบ 2 ประตู หมั่นละลายน้ำแข็งเมื่อเห็นว่าน้ำแข็งเกาะเป็นหนาม

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ควรหุงข้าวให้พอดีกับจำนวนผู้รับประทาน ถอดเต้าเสียบออกเมื่อข้าวสุกแล้ว อย่าทำให้ก้นหม้อตัวในเกิดรอยบุบ จะทำให้ข้าวสุกช้าหมั่นตรวจบริเวณแท่นความร้อนในหม้อ อย่าให้เม็ดข้าวเกาะติด จะทำให้ข้าวสุกช้าและเปลืองไฟ ใช้ขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ควรดึงปลั๊กออกเมื่อข้าวสุกพอแล้ว ใส่น้ำให้มีปริมาณพอควร

เครื่องซักผ้า ควรใส่ผ้าแต่พอเหมาะ ไม่น้อยเกินไป และไม่มากจนเกินกำลังเครื่องควรใช้น้ำเย็นซักผ้า ส่วนน้ำร้อนให้ใช้เฉพาะกรณีรอยเปื้อนไขมันมากควรใส่ผ้าที่จะซักตามคำแนะนำของแต่ละเครื่องหากมีผ้าต้องซัก 1-2 ชิ้น ควรซักด้วยมือหากมีแสงแดดไม่ควรใช้เครื่องอบแห้ง ควรจะนำเสื้อผ้าที่ซักเสร็จมาตากแดด

เตาอบ เตาไฟฟ้า เตรียมเครื่องปรุงในการประกอบอาหารให้พร้อมก่อนใช้เตา ควรใช้ภาชนะก้นแบนและเป็นโลหะจะทำให้รับความร้อนจากเตาได้ดี ในการหุงต้มอาหารควรใส่น้ำให้พอดีกับจำนวนอาหาร ในระหว่างอบอาหารอย่าเปิดตู้อบบ่อย ๆ ถอดเต้าเสียบทันทีเมื่อปรุงอาหารเสร็จเรียบร้อย ควรหรี่ไฟและปิดฝาหม้อในกรณีที่ต้องเคี่ยว ควรใช้ภาชนะก้นแบนขนาดพื้นที่ก้นเหมาะกับพื้นที่หน้าเตาและใช้ภาชนะที่มีเนื้อโลหะรับความร้อนได้ดี หากเป็นไปได้ให้ใช้กับเตาไฟฟ้าซึ่งมีขายทั่วไปอยู่แล้ว

เครื่องทำน้ำอุ่น ปรับปุ่มความร้อนให้เหมาะสมกับร่างกาย ปิดวาล์วทันทีเมื่อไม่ใช้งานหากมีรอยรั่วควรรีบทำการแก้ไขทันที ต่อสายลงดินในจุดที่จัดไว้ให้ของเครื่องทำน้ำอุ่น ปิดสวิตช์ไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำอุ่นเมื่อไม่ใช้ ปฏิบัติตามคำแนะนำที่แนบมากับเครื่อง ใช้เครื่องขนาดพอสมควร ปรับความร้อนไม่ให้ร้อนเกินความจำเป็น ปิดก๊อกทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ในฤดูร้อนไม่จำเป็นต้องใช้น้ำร้อน หรือน้ำอุ่น ควรใช้น้ำอุ่นที่ได้ความร้อนจากแสงอาทิตย์

เครื่องปรับอากาศ ปิดเครื่องทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ปิดประตูหน้าต่างและผ้าม่านกันความร้อนจากภายนอก ตั้งอุณหภูมิไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ควรใช้เครื่องขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ควรติดตั้งเครื่องระดับสูงพอเหมาะ และให้อากาศร้อนระบายออกด้านหลังเครื่องได้สะดวก ควรบุผนังห้อง และหลังคาด้วยฉนวนกันความร้อน ควรบำรุงรักษาเครื่องให้มีสภาพดีตลอดเวลา และหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ และแผงระบายความร้อน ในฤดูหนาวขณะที่อากาศไม่ร้อนมากเกินไป ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ไม่ให้ความเย็นรั่วไหล พิจารณาติดตั้งบังแสงหรือกันแดด เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่อง ควรใช้ผ้าม่านกั้นประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอก

ทีมเศรษฐกิจ