ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยสถิติระบบธนาคารพาณิชย์ขัดข้องในไตรมาส 1 ปี 2566 ระหว่างเดือน มกราคม-มีนาคม 2566 ประกอบด้วย โมบายแบงก์กิ้ง, อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง, ATM/CDM และสาขา โดยในรอบนี้ การขัดข้องของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงมาก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือไตรมาสที่ 4 ปี 2565

สถิติระบบธนาคารขัดข้อง แอปธนาคารล่ม แบงก์ล่ม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ดังนี้

ช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง
– ธนาคารกรุงเทพ 1 ครั้ง น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
– ธนาคารกรุงไทย 1 ครั้ง นาน 2 ชั่วโมง
– ธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง

ช่องทางตู้ ATM/CDM
– ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 1 ครั้ง น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ช่องทางสาขา
– ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 1 ครั้ง น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ส่วนช่องทางอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ไม่มีธนาคารใดในไตรมาสแรก ที่ขัดข้องแม้แต่รายเดียว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 หรือระหว่างเดือน มกราคม-มีนาคม 2566 โมบายแบงก์กิ้ง หรือแอปธนาคารที่ไม่ล่มเลย มีจำนวนไม่น้อย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ธนาคารแห่งประเทศจีน, ธนาคารอินเดียนโอเวอร์ซีส์ และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

หากย้อนดูในไตรมาสก่อนหน้าพบว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคารที่มีการขัดข้องของแอปธนาคาร “แอป ttb touch” มากที่สุดแห่งหนึ่ง เรียกว่าติดขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง และแอปล่มนานติดต่อกัน 2-3 วันทีเดียว ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 แอป ttb touch ขัดข้อง 4 ครั้ง นาน 3 ชั่วโมง, ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ขัดข้อง 6 ครั้ง นาน 46 ชั่วโมง และไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ขัดข้อง 10 ครั้ง นาน 37 ชั่วโมง แต่พอมาในไตรมาสล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 แอป ttb touch ไม่ขัดข้อง หรือล่มเลยแม้แต่ครั้งเดียว.

(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย.2566)