นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปี งบประมาณ 66 (ต.ค. 65-มี.ค. 66) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.16 ล้านล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 1.79 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไป 294,505 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 66 มีทั้งสิ้น 193,585 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า เงินคงคลังเดือน มี.ค. 66 ที่เหลือ 193,585 ล้านบาท มียอดลดลงไปถึง 167,270 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ปีก่อน หรือลดไป 46.4% ซึ่งถือเป็นเงินคงคลังเหลือต่ำสุดรอบ 36 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ที่เผชิญวิกฤติโควิด ซึ่งช่วงนั้นเหลือ 1.52 แสนล้านบาท อีกทั้งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในรอบหลายปี ถือว่าเงินคงคลังเหลือน้อยผิดปกติเพราะส่วนใหญ่เงินคงคลังจะเหลือเฉลี่ย 2.5-4 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ฐานะการคลังไม่ได้มีปัญหาอะไร และรัฐบาลยังมีงบประมาณ เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยสาเหตุที่เงินคงคลังเหลือน้อยกว่าปกติ เนื่องจากช่วงปลายรัฐบาลจึงมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 7.2 หมื่นล้าน ประกอบกับ ปีก่อนมี พ.ร.ก.กู้เงินจากโควิดเข้ามาทำให้เงินคงคลังเหลือเยอะ อีกทั้งปีนี้ คลังมีการกู้ชดเชยขาดดุลไปไม่เยอะ  เนื่องจากต้องดูสถานการณ์ดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งเพิ่งกู้ไปเพียง 294,505 ล้านบาท จากกรอบเงินกู้ชดเชยทั้งปี 695,000 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือกรอบให้กู้ชดเชยได้อีกกว่า 4 แสนล้าน และถ้าเทียบยอดกู้ชดเชยปีนี้กับปีที่แล้ว ก็มีการกู้ลดลงไปเกือบ 1.4 แสนล้านบาทด้วย

“ตัวเลขเงินคงคลัง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดสถานะการคลังที่มีนัยยะที่สุด เพราะเปรียบเสมือนเงินในกระเป๋า หากเราใช้จ่ายวันละ 200 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินสด มาเก็บในกระเป๋าเป็นพันเป็นหมื่น เพราะการกู้มาเก็บก็จะเสียดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายของรัฐ ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงบริหารเงินคงคลัง ให้สอดคล้องระหว่างรายรับและรายจ่าย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ถังแตกแน่นอน นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ คลังจะมีรายได้ก้อนใหญ่จากภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากรเข้ามา รวมถึงทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ก็มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์มาอีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ฐานะเงินคงคลังกลับมาเพิ่มขึ้น”

นายพรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับผลจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 66 จัดเก็บรายได้สุทธิ 1.16 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 95,084 ล้านบาท หรือ 8.9% และสูงกว่าปีก่อน 6.9% สำหรับหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ กรมสรรพากร มาจากภาษีเงิน ได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลฯ ส่วนราชการอื่น มีรายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการประมูลใบอนุญาตวิทยุเอฟเอ็ม กรมศุลกากรมีรายได้จากการนำเข้าขยายตัว และการชำระภาษีย้อนหลัง

ด้าน นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในปีงบ 66 สคร.มีเป้าหมายจัดเก็บเงินนำส่งแผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจ 149,600 ล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 จัดเก็บได้แล้ว 79,429 ล้านบาท คิดเป็น 53% สูงกว่าประมาณ 14,809 ล้านบาท โดยเงินนำส่งส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย