รายงานข่าวจากรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า วันที่ 16 พ.ค. นี้ ที่โรงแรมรอยัล นาคาราหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย จัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดของโครงการ รวมทั้งผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน และขั้นตอนที่ต้องดำเนินงานต่อไปให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการสำหรับนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการได้ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ จ.หนองคาย ประเทศไทย และ เวียงจันทน์ สปป.ลาว และพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากโครงการ จุดเริ่มต้นโครงการจะอยู่บริเวณเชิงลาดของตัวสะพานฝั่งประเทศไทย จุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่บริเวณเชิงลาดตัวสะพานฝั่ง สปป.ลาว ทั้งนี้การศึกษาคำนึงถึงโครงข่ายการคมนาคมที่มาเชื่อมต่อกับสะพานทั้งสองฝั่งด้วย

การประชุมครั้งนี้ นำเสนอรูปแบบทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม 3 รูปแบบ และสรุปรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ รูปแบบที่ 1 กรณีก่อสร้างสะพานใหม่ 1 สะพาน เพื่อรองรับเฉพาะรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โดยทำการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน เป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร รองรับรถไฟทางคู่ และทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

รูปแบบที่ 2 กรณีก่อสร้างสะพานใหม่ 1 สะพาน เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงในปัจจุบัน พร้อมทั้งช่องทางสัญจรสำหรับรถยนต์ใช้งานร่วมกันบนสะพานเดียวกัน โดยก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน เป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร และทางรถไฟขนาดมาตรฐาน) และมีทางสัญจรสำหรับรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจร รวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพานเดิมเป็นทั้งหมด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

รูปแบบที่ 3 กรณีก่อสร้างสะพานใหม่ 2 สะพาน โดยทำการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน 1 สะพาน สำหรับรองรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง (ทางรถไฟขนาด 1 เมตร และทางรถไฟขนาดมาตรฐาน) และก่อสร้างสะพานรถยนต์ใหม่ 1 สะพาน อยู่ทางด้านต้นน้ำของสะพานปัจจุบันอีก 2 ช่องจราจร เมื่อรวมกับ 2 ช่องจราจรของสะพานเดิมเป็นทั้งหมด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว

ซึ่งรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ รูปแบบที่ 3 ซึ่งสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้มาก และไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่วัดจอมมณี แต่การก่อสร้างสะพานใหม่ 2 แห่ง จะมีค่าก่อสร้างสูง หลังจากรับฟังความคิดเห็นจะนำข้อมูลมาประกอบผลการศึกษาสรุปรูปแบบโครงการที่เหมาะสม ประเมินมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น สรุปงบประมาณโครงการ และดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ให้แล้วเสร็จต่อไป

จากนั้นจัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 (ปัจฉิมโครงการ) เพื่อสรุปผลการศึกษาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบข้อมูล พร้อมนำความคิดเห็นผู้ร่วมประชุมมาประกอบการผลการศึกษาให้เสร็จสมบูรณ์เดือน ก.ค. 66 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งเสนอขอรับงบประมาณปี 67 เพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดและศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในรูปแบบที่เหมาะสมใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี และขั้นตอนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณา EIA อีกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนจะเสนอขอรับงบประมาณปี 69 (ปี 69-71) เพื่อก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 3 ปี คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 72

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟ ไทย-ลาว-จีน ยังขาดโครงสร้างตัวสะพานข้ามแม่น้ำโขงข้ามพรมแดนประเทศไทย-สปป.ลาว ในการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน กับสถานีหนองคาย โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งสะพานเดิมไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งได้เพียงพอ จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เริ่มดำเนินการ ดังนั้นรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย ไทย-ลาว-จีน ร่วมลงนามข้อตกลงเห็นชอบร่วมกันว่าการสร้างสะพานใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อรถไฟ หนองคาย-เวียงจันทน์ จะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม อยู่ห่างประมาณ 30 เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร

กระทรวงคมนาคมสั่งให้ ทล. ขอรับจัดสรรงบกลางการออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมการเดินทางรถไฟ ไทย-ลาว-จีน โดยให้ทำสะพานรองรับทั้งรถไฟและรถยนต์ในคราวเดียวกัน ทล. จึงจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่าง ไทย-ลาว-จีน ให้สมบูรณ์ต่อไป โดยเริ่มศึกษาวันที่ 11 ต.ค. 65-7 ก.ค. 66 ระยะเวลา 270 วัน งบประมาณศึกษา 39.3 ล้านบาท