ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรสิทธิ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับ นายมานิตย์ ตั้งสิทธิ์เสรีวงศ์ รองนายกเทศมนตรีฯ นายณรงค์ ว่องกิจอุสาหะ รองนายกเทศมนตรีฯ พร้อมด้วย สมาชิกสภาเทศบาลตำบลทุ่งคอก ปลัดเทศบาลตำบลทุ่งคอก หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองช่าง ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการกองการศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการศาลพ่อปู่ ศาลพ่อต้นแค ศาลแม่พระนางรวมใจ คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งคอก ร่วมประชุมปรึกษาหารือแนวทางการจัดงานสืบสานประเพณีเดินเจว็ด ประจำปี 2567 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำชาวบ้านตำบลทุ่งคอก และหมู่บ้านใกล้เคียงจัดงานพิธีทำบุญตักบาตร เพื่อสืบสานงานประเพณีเดินเจว็ด รอบบริเวณศาลพ่อปู่ ศาลพ่อต้นแค ศาลแม่พระนางรวมใจ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้าน ที่ชาวบ้านประจำท้องถิ่นร่วมใจกันจัดขึ้นด้วยแรงศรัทธา สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 300 ปี โดยพิธีถือฤกษ์จัดขึ้นในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เพื่อเป็นสิริมงคล รวมถึงเป็นการสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งยังเป็นเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาล

“งานสืบสานประเพณีเดินเจว็ด โดยพิธีในช่วงเช้าจะมีคู่หนุ่มสาวที่แต่งงานอยู่กินกัน นำเครื่องสังเวยมาบูชา เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง ต้มขาว เหล้าขาวมาเซ่นไหว้ มากราบไหว้บูชา และขอพรศาลพ่อปู่ ศาลพ่อต้นแค ศาลแม่พระนางรวมใจ จากนั้นมีการประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และนำสิ่งไม่ดีงามให้ล่องลอยหายไป หลงเหลือแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่คู่หนุ่มสาวที่แต่งงานกัน ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ทำมาค้าขายรุ่งเรือง ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็จะพบความสุขสมหวังในชีวิตคู่ หนุ่มสาวจะนำเครื่องเซ่นไหว้ หรือเจว็ด พร้อมด้วยขบวนนางรำ ขบวนกลองยาว แห่ร้องรำทำเพลง อย่างสนุกสนานครื้นเครง 7 รอบ ศาลพ่อปู่ ศาลพ่อต้นแค ศาลแม่พระนางรวมใจ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยเครื่องเซ่นไหว้ หรือเจว็ด ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่ดีอย่างหนึ่ง มีความเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าให้มีแต่ความสุข รอดพ้นต่อภัยอันตรายต่างๆ ทั้งปวง เพื่อเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยว ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ได้เน้นให้ทุกหน่วยงานร่วมกันอนุรักษ์ความเป็นไทยแบบดั้งเดิมให้นานที่สุด ให้คนรุ่นหลังให้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่าประเพณีเดินเจว็ด คงเหลือเพียง 2 แห่งในประเทศไทยเท่านั้น ที่ยังคงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป” นายวรสิทธิ์ กล่าว.