ท่ามกลางกระแสการจัดตั้งรัฐบาล ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจนว่าใครจะได้ตำแหน่งใดในรัฐบาลบ้าง ของรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ที่นำโดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ร่วมกับพรรคอื่นๆรวม 8 พรรค สำหรับการวางตำแหน่ง ครม. ยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียด เพียงแต่เจรจากรอบเบื้องต้นว่าพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยจะจัดสรรตำแหน่ง ครม.ในกระทรวงสำคัญๆ กันคนละครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ที่จับตามองเป็นพิเศษ หนีไม่พ้นตำแหน่ง รมว.มหาดไทย หรือ มท.1 คาดว่าพรรคก้าวไกลอาจจะผลักดันนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม.เข้ามารับตำแหน่ง เพื่อผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ให้เป็นไปตามโรดแม็พ รวมทั้งจะมีการปรับโฉมการทำงานของกระทรวงมหาดไทย ดึงบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นทีมงานที่ปรึกษา ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมไม่แพ้ในสมัย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีต รมว.มหาดไทย

สำหรับประวัติ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2520 อายุย่างเข้า 46 ปี เกิดและเติบโตในกรุงเทพมหานคร เป็นพี่ชายคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน สำเร็จการศึกษาใน ระดับมัธยมศึกษา​ที่โรงเรียนวัดสุทธิ​ว​รา​ราม จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมยานยนต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนจะมาทำงานการเมือง วิโรจน์เคยทำงานด้านวิศกรรม และงานบริหารกับบริษัทเอกชนเกือบ 20 ปี  ปี 2542 – 2544 : หลังเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิโรจน์ออกมาทำงานเป็นวิศวกรควบคุมคุณภาพกับบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงปี 2542 – 2544 จากนั้น ปี 2544 – 2546 ได้ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและไปเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษา ด้านระบบบริหารคุณภาพและการบริหารจัดการ รวมถึงฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการต่างๆ ให้บริษัท โนโว ควอลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การกำกับของ สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ปี 2546 วิโรจน์ได้ย้ายมาทำงานที่ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)  ในฐานะเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ปี 2549 – 2561 เคยเป็นกรรมการวิชาการ ของโรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งบริษัทซีเอ็ดและกลุ่มรักลูกได้เข้าไปบุกเบิกเรื่องการพัฒนาด้านวิชาการ ทั้งนี้ ยังเคยเป็นทำเพจเฟซบุ๊ก ที่ชื่อว่า Education Facet ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้กับกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเยาวชน โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 87,000 คน

นอกจากนี้ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเช้าสู่เส้นทางการเมือง วิโรจน์เคยสร้างสรรค์ผลงานด้านหนังสือ อาทิปูทางให้ลูกไป สู่เส้นชัยที่ลูกหวัง กลยุทธ์ HR ที่จับต้องได้ (Tangible HR Strategy) ลีนอย่างไรสร้างกำไรให้องค์กร (Profitable Lean Manufacturing)หลุดจากกับดัก Balanced Scorecard 

ส่วนเส้นทางการเมือง วิโรจน์ มาทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และเขาได้กลายเป็นดาวรุ่งในสภาอย่างรวดเร็วจากเนื้อหา ลีลาการพูดฉะฉาน และเทคนิคในการนำเสนอที่เขาใช้ในการอภิปรายในสภา โดยชื่อเสียงของวิโรจน์โด่งดังอย่างมากหลังอภิปรายเกี่ยวกับยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) ของกองทัพ นอกจากนี้ วิโรจน์ ยังได้รับความสนใจมากขึ้น ในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดีย ในการสื่อสารพูดคุยกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกันเอง

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค วิโรจน์ และเพื่อนส.ส. อีกหลายคนได้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล โดยวิโรจน์ดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกพรรค หลังจากนั้นวิโรจน์ได้มีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆในสภา หลังจากนั้น วิโรจน์ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ในสังกัดพรรคก้าวไกล โดยเสนอนโยบาย “เมืองที่คนเท่ากัน” ที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเชิงโครงสร้างและสวัสดิการสังคม เพื่อแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานครที่สั่งสมมานานจากต้นตอของปัญหา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง