เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ที่เป็นเหตุให้ผู้โดยสารติดอยู่ในขบวนรถเป็นเวลานาน ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นที่สนใจจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ อันดับ 1 จึงได้กำชับให้ผู้ประกอบการขนส่งทางราง ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางรางก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทุกเส้นทางดำเนินการ เพื่อป้องกัน หรือลดโอกาสการเกิดเหตุขัดข้องในระบบรถไฟฟ้า ดังนี้ 1.ด้านรถขนส่งทางราง ดำเนินการตรวจสอบสภาพขบวนรถตามรายการตรวจสภาพ (Checklist) ทุกวัน

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีบริการตู้โดยสารสำรอง เพื่อหมุนเวียนตู้โดยสารที่ใช้วิ่งบริการในเวลาเร่งด่วน โดยยังคงจัดเตรียมขบวนรถสำรอง สำหรับวิ่งให้บริการทดแทนในกรณีเกิดเหตุขัดข้องได้อย่างทันท่วงที 2.ด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำแผน และซักซ้อมการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้โดยสารทราบถึงสถานการณ์กรณีเกิดเหตุขัดข้องต่างๆ อย่างทันท่วงทีและครบถ้วน อาทิ ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ และแนวทางปฏิบัติของผู้โดยสารเป็นระยะ 3.ด้านการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ เพื่อเตรียมแผนการรองรับการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารกรณีเกิดเหตุขัดข้องที่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถอย่างมากหรือใช้ระยะเวลาแก้ไขนาน เพื่อให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้อย่างสะดวก และทันท่วงที

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า 4.ด้านการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ให้จัดอบรมพัฒนาทักษะทีมบุคลากรช่างเทคนิคอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงซักซ้อมเหตุขัดข้องจากโครงสร้าง และอุปกรณ์ในเขตราง (Railway Structure) ในกรณีต่างๆ แบบเสมือนจริง เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการแก้ไข และทำให้ขบวนรถสามารถวิ่งให้บริการตามตารางเดินรถปกติได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุจากเหตุขัดข้องที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์หรือควบคุมได้ อาทิ เหตุระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ขัดข้อง

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการเยียวยาผู้โดยสารเมื่อได้รับผลกระทบ ขร. จะหารือกับผู้ให้บริการเพื่อพิจารณามาตรการเยียวยา ดังนี้ 1.มาตรการให้ผู้ให้บริการขนส่งทางรางออกใบรับรอง เพื่อนำไปใช้กับที่ทำงาน หรือโรงเรียนว่า รถไฟฟ้าเกิดเหตุล่าช้า โดยระบุระยะที่ให้บริการล่าช้าเป็นจำนวนนาที 2.มาตรการคืนค่าโดยสารเต็มจำนวน หากประสบเหตุขัดข้องส่งผลให้ล่าช้ามากกว่า 30 นาที และ 3.ให้ผู้ให้บริการขนส่งทางราง กำหนดกรณีที่จำเป็นต้องอพยพผู้โดยสาร และวิธีการดำเนินการ รวมถึงการซ้อมเผชิญเหตุให้ชัดเจน เพื่อลดความกังวลของผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด