จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนสาหัส จากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดศีรษะ และเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุดล่ารายชื่อ และร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


ล่าสุดวันที่ 21 พ.ค. บรรยากาศที่บ้านถ้ำปลา ที่ยังถูกปกคลุมด้วยกลิ่นเหม็นของขี้หมู ชาวบ้านยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากทุกลมหายใจยังคงสูดดมกลิ่นเหม็นของอึหมู โดยเฉพาะในช่วงที่ลมพัดผ่านมาจากตำแหน่งที่ตั้งของฟาร์มเลี้ยงหมู ถึงกับรู้สึกปวดหนึบๆ ที่ศีรษะ และมีอาการคลื่นไส้แทบอาเจียน


นายสมเพชร ไชยศาสตร์ อายุ 61 ปี ชาวบ้านที่เดือดร้อน กล่าวว่า เดิมบรรยากาศตำบลเราปลอดโปร่ง ลมพัดผ่านเย็นสบาย ชาวบ้านได้สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอดตลอดมาหลายชั่วอายุ เพราะตั้งอยู่ในทำเลอันเหมาะสม สภาพอากาศดี มีภูเขาล้อมรอบหลายลูก สลับที่ราบ ทิวทัศน์สวยงาม อากาศดี แต่พอมีฟาร์มเลี้ยงหมูซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหนผุดขึ้นในพื้นที่ และต่อมาได้ส่งกลิ่นเหม็นของขี้หมูลอยไปทุกทิศทางตามกระแสลม ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ร่างกายอ่อนแอ หายใจไม่เต็มปอด ปวดหัวปวดประสาทตลอดเวลา บางคนต้องไปตรวจสุขภาพกับหมอ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ตนและชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก


นายสมเพชร กล่าวอีกว่า ชาวบ้านเคยร้องทุกข์กับผู้นำชุมชนและตัวแทนบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมแล้ว เรื่องก็เงียบ ยังไม่มีการแก้ไขเกิดขึ้น ก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร วันๆ ได้แต่ปรับทุกข์กัน จนคิดจะพากันขุดรูอยู่เหมือนปูเหมือนหนู เพราะแทบจะทนไม่ได้แล้วกับกลิ่นเหม็นของขี้หมู จึงอยากเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรีบเร่งแก้ไข เพื่อนำอากาศบริสุทธิ์คืนมาและต่อลมหายใจให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความเป็นมาของการตั้งฟาร์มด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และตนรวมทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบว่าก่อนจัดตั้งฟาร์มหมู ไม่มีการประชาคม


ด้าน นายเฉลิม ทองจรัส อายุ 72 ปี กล่าวว่า ตนและครอบครัวได้ออกมาตั้งที่พักอาศัยที่บริเวณแปลงนา อยู่กันมาด้วยความสุขหลายปี เมื่อเร็วๆ นี้กลับมานายทุนเข้ามาส่งเสริมเลี้ยงหมูให้กับชาวบ้านรายหนึ่งใกล้กับที่ดินของตน โดยจัดตั้งฟาร์มที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากที่พักอาศัยของตนประมาณ 180 เมตร ก็ลองคิดดูขนาดบางฟาร์มอยู่ห่างชุมชนกว่า 2 กม. ยังได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของขี้หมู แล้วตนที่อยู่ใต้ลมฟาร์มหมู จะไม่เดือดร้อนหนักกว่าชาวบ้านคนอื่นหรือ


นายเฉลิม กล่าวอีกว่า นอกจากตนจะได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์มหมูแล้ว ข้าวในนาที่กำลังเป็นต้นกล้า รวมทั้งปลาที่เลี้ยงในบ่อ ยังได้รับความเสียหายจากขี้หมูอีกด้วย เนื่องจากในวันที่มีฝนตกลงมา น้ำฝนได้ชะล้างขี้หมูที่เจ้าของฟาร์มระบายออกมาจากบ่อบำบัด เข้ามาในแปลงยางพารา แล้วได้ไหลบ่าเข้ามาในที่ดินของตนที่เป็นนาข้าวและบ่อเลี้ยงปลา ขี้หมูที่มีกลิ่นเหม็นและมีสภาพเป็นกรด จึงสร้างความเสียหายให้กับแปลงนา ทำให้ต้นข้าวที่กำลังเจริญงอกงามและปลาในบ่อตายหมด ขณะที่ตนเองบางครั้งก็คิดอยากจะย้ายบ้านหนี แต่ก็ไม่จะไปอยู่ไหน เพราะสูงอายุแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้มีการแก้ไขฟาร์มหมู ที่เป็นต้นตอของปัญหากลิ่นเหม็นและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของตนด้วย


ขณะที่ นายสุทัศน์ พันธ์ศรี รองปลัด อบต.สหัสขันธ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องงร้องเรียนจากชาวบ้าน กรณีได้รับผลกระทบจากฟาร์มหมูเอกชนดังกล่าว จึงได้ประสานตัวแทนบริษัทเอกชน ให้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทางบริษัทรับปากว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาจากกลิ่นให้กับฟาร์มเกษตรกรภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ได้รับมอบหมายจาก นายก อบต.สหัสขันธ์ ร่วมกับกำนัน ต.สหัสขันธ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบภายนอกของฟาร์มหมู ทราบว่า บางฟาร์มมีการจัดระบบบริหารจัดการในฟาร์ม 100% ปลอดกลิ่นเหม็น ขณะที่ยังมีบางฟาร์มที่การติดตั้งระบบป้องกันและบริหารจัดการในฟาร์มไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังมีกลิ่นเหม็น ทราบว่าจะได้ดำเนินการติดตั้งม่านน้ำ เพื่อดูดซับกลิ่นตามกระบวนการของฟาร์ม

สำหรับ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทางกลิ่นจากฟาร์มหมู เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา เบื้องต้นเป็นในส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ ต.นามะเขือ ซึ่งได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอและส่วนที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงและจะมีการดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ในส่วนปัญหากลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของ ต.สหัสขันธ์ ก็จะได้ประสานทั้ง อบต.สหัสขันธ์ เจ้าของพื้นที่ รวมทั้งฝ่ายอุตสาหกรรม ฝ่ายปศุสัตว์ และ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นฝ่ายอนุมัติเงินกู้ลงทุนเลี้ยงหมู


“ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ตรวจสอบในส่วนที่รับผิดชอบ เช่น การอนุญาตสร้างอาคาร การจัดตั้งฟาร์ม การบริหารจัดการในฟาร์ม จุดประสงค์การกู้เงินว่า ถูกต้องหรือไม่ หากพบไม่เป็นไปตามระเบียบ และหลักการ ก็ให้มีการปรับปรุงแก้ไข ภายในกรอบเวลากำหนดตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลากำหนด ทางอำเภอมีอำนาจสั่งยุบกิจการ” นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงหมู โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านดังกล่าว มีรายงานว่า มีการประชุมกลุ่มย่อยในช่วงโควิด-19 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่นำที่ดินจำนองกับ ธ.ก.ส.โครงการละ 6 ล้านบาทเศษ 1 รายจัดทำ 2 ฟาร์ม จำนวนหมู 1,500 ตัว โดยเอกชนดำเนินการให้ในส่วนของโครงสร้างต่างๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฟาร์มหมู ลูกหมู อาหาร เลี้ยงอายุ 140 วันจำหน่าย ทั้งนี้ เกษตรกรที่ร่วมโครงการทำสัญญากับบริษัทเอกชน ในฐานะ “ผู้รับจ้างเลี้ยง” โดยมีสัญญา 3 ปี สำหรับการเลี้ยงหมูบางรายเป็นการเลี้ยงรุ่นที่ 1 ขณะที่บางรายเลี้ยงในรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการเลี้ยงในขณะที่ระบบการบริหารจัดการในฟาร์มยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และเกิดกลิ่นเหม็นกระทบชาวบ้าน กระทั่งเกิดการร้องเรียนและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบในครั้งนี้.