เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 23 พ.ค. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ได้เริ่มจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยนักวิชาการในเครือข่าย อาทิ นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอุเชนทร์ เชียงแสน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอ-ลอว์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นายอนุสรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนอยากเรียกว่า วุฒิสภา (ส.ว.) เป็นสิ่งแปลกปลอมทางการเมือง เป็นภัยคุกคามในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งแตกต่างกับประเทศอื่น เราควรจะภาคภูมิใจหรือไม่ ที่ ส.ว.ไทย มีวาระ 5 ปี และมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาล นอกจากนี้ ยังขัดหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งในการรวมเสียงให้ถึง 376 เสียง โดยอาศัยเสียง ส.ว. ด้วยนั้น ตนอยากถามว่า ส.ว. อ้างความชอบธรรมมาจากอะไร ในการเข้ามามีส่วนว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนประชาชน

ขณะเดียวกันยังเป็นอันตรายต่อการเมืองระบบรัฐสภา เพราะทันทีที่เราเปิดให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แทรกตัวเข้ามาตรง กลาง เพราะจะทำให้เกิดการอนุญาตให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงรองลงมา สามารถรวมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ จะทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำให้บริหารประเทศไม่ได้ ขณะนี้แม้เรายังไม่เห็นแนวโน้มรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่การเมืองพลิกผันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังเป็นภัยคุกคามพรรคการเมืองที่เป็นเครื่องสะท้อนเจตจำนงประชาชน แต่ ส.ว. เข้ามาแทรกตัวตรงกลาง ดังนั้นจะมีพรรคการเมืองไปทำไม

“ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ควรมีอำนาจไม่มาก ตรงกันข้าม ส.ว.ไทย มีอำนาจมากเหลือเกิน ไม่เหมือนกับใครในโลกนี้ แล้วมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี มันขัดกับหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” นายอนุสรณ์ กล่าว