หากไม่มีอะไรผิดพลาด!! ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยพรรคก้าวไกล และมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั่นหมายความว่า…ขุนคลังหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ คนที่ 64 ของประเทศไทย คงเป็นใครอื่นไม่ได้…นอกจาก “ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ที่ได้รับการการันตีจากหัวหน้าพรรคว่า…เป็นคนที่มีฝีมือจึงมั่นใจเกินร้อย จากที่เห็นฝีไม้ลายมือกันมานานถึง 4 ปี จึงการันตีได้ว่า “ศิริกัญญา” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ดีที่สุดในช่วงนี้ ที่สำคัญ หากเก้าอี้ขุนคลัง ตกเป็นของ “ศิริกัญญา” อย่างแท้จริง ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ 148 ปี ของกระทรวงการคลังกันเลยทีเดียว ที่จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย

มรดกหนี้มหาศาล

“กระทรวงการคลัง” ถือเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่บรรดาพรรคการเมืองต้องการเข้ามากุมบังเหียน เพราะนอกจากจะเป็น กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญที่เปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังได้รับงบประมาณปีล่าสุด ปี 67 มากเป็นอันดับ 3 ที่จำนวน 313,822 ล้านบาท อีกต่างหาก ซึ่งต้องยอมรับว่าตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” นี้ไม่หมู ไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าใครก็เข้ามากำกับดูแลได้ โดยเฉพาะยุคนี้สมัยนี้!! ที่ยังไม่รู้ว่า “มรสุมเศรษฐกิจโลก” ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาก็มี “มรดกหนี้” เป็นจำนวนมาก จากการดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจท่ามกลางพายุเศรษฐกิจที่สาหัส

ดังนั้น การเข้ามากุมบังเหียนในยุคนี้ อาจต้องเริ่มต้นจากการติดลบ ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ เพราะเวลานี้ภาระหนี้สาธารณะ ทะลุไป 10.89 ล้านล้านบาท สูงถึง 61.56% ของจีดีพี ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท จนถึงวันนี้ รัฐบาลของ “ลุงตู่” เพิ่งใช้หนี้ไปได้เพียง 94,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น หนี้ที่เหลืออีกกว่า 1.35 ล้านล้านบาท ก็หนีไม่พ้นรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาก็ต้องตามชดใช้กันไป

ไม่เพียงแค่นั้น…ยังมีหนี้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหนี้นอกระบบของรัฐบาล ที่ไหว้วานให้หน่วยงานอื่นโดยเฉพาะแบงก์รัฐจ่ายเงินทำตามนโยบายไปก่อน แล้วค่อยหางบประมาณมาใช้คืนทีหลัง และที่ผ่านมารัฐบาลของลุงตู่ก็ใช้เงินกันจนมันมือไม่น้อย จนทะลุเพดาน จากที่สั่งห้ามเกิน 30% ของงบประมาณ ก็ทะลุไป 35% แม้ถึงปัจจุบันจะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขแน่ชัด แต่รวม ๆ แล้ว อาจอยู่ในระดับที่ 9 แสนล้านบาท หรืออาจถึง 1 ล้านล้านบาท ทีเดียว หนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่… ก็มาจากการใช้ในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร โดยตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมาใช้ไปเกือบ 3 แสนล้านบาท

แก้ปัญหาวินัยการคลัง

ปัญหาหนี้ 2 ก้อนนี้ ยังไม่จบแค่ว่า…ต้องชดใช้นานเท่าไรถึงจะหมด แต่!! ที่น่าห่วงคือหนี้ทั้ง 2 ก้อน เป็นการใช้อย่างไม่บันยะบันยัง จนทำลายวินัยการเงินการคลังอย่างยับเยิน โดยในส่วนหนี้สาธารณะ เกินกรอบดั้งเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ขณะที่หนี้มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็ทุบเพดานจากที่เคยกำหนดไว้ 30% ดังนั้น!! จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ รมว.คลัง คนใหม่ต้องมาเร่งสะสาง เพราะหากปล่อยให้ยืดเยื้อ ย่อมมีผลพวงกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศตามมา ไม่เพียงแค่นั้น การที่เพดานหนี้ล้นทะลักเช่นนี้ ยังกลายเป็นภาระผูกพัน และข้อจำกัดให้รัฐบาลใหม่ขยับตัวบริหารการคลังค่อนข้างยาก และขาดเครื่องมือในการบริหารเงินเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนประเทศ หรือรับมือวิกฤติในอนาคตอีกด้วย

รื้อบัตรคนจนเสี่ยงทัวร์ลง

โจทย์ต่อมา คือการเข้ามาเคลียร์โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ที่เพิ่งเปิดเฟสใหม่ไปเมื่อเดือน เม..ที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างน่าคิด เพราะตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โครงการบัตรคนจน สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวสิ้นเชิง เพราะนอกจากต้องใช้เงินมหาศาลไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินเพิ่มเติมตามเทศกาลอื่น ๆ อีก บัตรคนจนยังไม่ได้ช่วยให้คนไทยพ้นความจนอย่างแท้จริง เพราะดีแต่แจกเมื่อยิ่งแจกก็ยิ่งจูงใจให้คนอยากขี้เกียจ อยากจนยิ่งขึ้น!! ไม่เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน ไม่เกิดการพัฒนาฝีมือ เพื่อทำให้รายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

เห็นได้จากบัตรคนจนรอบล่าสุด มีคนแห่สมัครมากถึง 22-23 ล้านคน แถมคนที่ผ่านสิทธิ ยังมีจำนวนมากกว่ารอบก่อนนับล้านคนกันทีเดียว แต่โครงการนี้ถือเป็น “ของร้อน” เป็นการวัดใจทางการเมือง ว่าพรรคก้าวไกลจะดำเนินการอย่างไร เพราะหาก “ยกเลิก” เชื่อเถอะทัวร์ลงแน่นอน เพราะฐานเสียงคนได้สิทธิกว่า 13-14 ล้านคน อาจพาเกลียดขี้หน้ากันก็เป็นไปได้ 

อลวนกับเรื่องหวย

ถัดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนรากหญ้าอีกเช่นกัน คือ หวย หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เป็นช็อตต่อเนื่องจากรัฐบาลลุงตู่ หลังจากพยายามเข็น โดยแก้กฎหมายเปิดทางให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีอำนาจออกผลิตภัณฑ์สลากฯ ใหม่ ๆ มาให้ชาวบ้านเล่นเพิ่มแล้ว ถึงตอนนี้เรื่องก็ยังค้างคาว่า ครม.จะอนุมัติได้หรือไม่ หากไฟเขียวขึ้น ก็จะมีสลากเลข 3 หลัก หรือเอ็น 3 และลอตเตอรี่ 6 หรือแอล 6 ออกมาเพิ่มได้ทันที เรื่องนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่า… ขุนคลังคนใหม่จะเดินหน้าต่อหรือไม่? เพราะหากเดินหน้าต่อ ก็เท่ากับเปิดศึกสู้กับหวยใต้ดิน ธุรกิจการพนันผิดกฎหมายเต็มตัว เพราะการมีแอล 6 เหมือนกับติดปีกให้สลากดิจิทัลใบ 80 บาท มีจำนวนเพิ่มขึ้น ไปขายแข่งสู้กับนายทุนยี่ปั๊วที่คอยปั่นขายสลากเกินราคาอยู่ ขณะที่สลากเลข 3 หลัก ก็เหมือนไปแข่งกับเจ้ามือหวยใต้ดิน เพราะมีให้เลือกแทงทั้งเต็ง ทั้งโต๊ด แบบไม่อั้น และยังไม่นับรวมเรื่องหวยใบเสร็จ นโยบายของก้าวไกลเอง ที่จะแจกสลากฯ เดือนละ 20 ล้านใบ ก็ยังไม่รู้ที่มาของหวยว่าจะนำมาจากที่ไหน

วัดใจเก็บภาษีขายหุ้น

ต่อมา… เป็นเรื่องของคนเล่นหุ้น!! ความเดิมก่อนหน้านี้ หลังจากรัฐบาลลุงตู่ เคยประกาศเดินหน้าเตรียมเก็บภาษีการขายหุ้น 0.11% ของราคาขายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ส่งผลให้บรรดานักลงทุนออกมาโวยกันยกใหญ่ จนรัฐบาลใส่เกียร์ถอยแทบไม่ทัน อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้ก็น่าติดตามเพราะนโยบายเก็บภาษีหุ้น ถือว่าไปตรงกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ออกตัวค่อนข้างชัด ว่าจะเข้ามาเก็บภาษีหุ้นต่อเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการลงทุน งานนี้!! ทำเอาบรรดานักลงทุนจ้องตาไม่กะพริบ!! ว่า…จะกล้าพอหรือเปล่า? เพราะในเวทีล่าสุด “ว่าที่ รมว.คลัง ศิริกัญญา” ก็โดนรับน้อง ถูกบรรดานักลงทุนดิสเครดิต จนว่าที่ขุนคลังหญิงคนแรก “ออกอาการเซ” และวันนี้ไม่แน่ใจว่าหายเมาหมัดไปหรือยัง และยิ่งด้วยสภาพตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ต้องบอกว่าดูไม่จืด ต่างชาติเทขายถอนทุนออก เพราะไม่อยากเสี่ยงกับอนาคตที่ไม่แน่นอน สวนทางกับภูมิภาคอื่นที่เขียวทั้งกระดาน จึงกลายเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องจับตา!!

Free photo screen showing data about the financial crisis because of the coronavirus

ปฏิรูปโครงสร้างภาษี

หันมาที่เรื่องใหญ่ ในเรื่องของการ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษี” ของประเทศ ที่พูดกันมานาน พูดกันมาเยอะ สารพัดแนวคิด สารพัดวิธี!! แต่เอาเข้าจริงก็ทำได้ยาก!! เพราะทุกวันนี้โครงสร้างภาษีของไทยไม่ทันสมัย เงินรายได้ส่วนใหญ่ที่จัดเก็บมาจากรายได้บุคคล นิติบุคคล รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในมุมของการ เก็บภาษีด้านทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือเศรษฐี ผู้มีอิทธิพลในบ้านเมือง ยังเรียกเก็บได้น้อย อย่างการถือครองที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือมรกดต่าง ๆ พอมีข่าวทีก็มักถูกแรงต้านจากนายทุนกลุ่มคนรวย

แต่ในวันนี้… การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นเรื่องที่จะช้าไม่ได้ เพราะมี “ตัวเร่ง” จากปัญหาเรื่องงบประมาณขาดดุล และรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สวนทางรายได้โตตามไม่ทัน เห็นได้จากสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ เมื่อเทียบกับจีดีพี มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง และยิ่งไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ทำให้รัฐบาล มีภาระรายจ่ายจ่อคิวอีกมหาศาล เพื่อใช้ดูแลคนสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับวัยหนุ่มสาว ที่ส่วนใหญ่เป็นคนต้องจ่ายภาษี ที่จะมีสัดส่วนลดลง ขณะที่กรมสรรพสามิตก็เตรียมจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวเดินให้ทันตามโลกที่รณรงค์กันหนักมากในเรื่องของ “โลกร้อน” ทั้งเรื่องของการจัดเก็บภาษี คาร์บอนเครดิต หรือภาษีแบตเตอรี่ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำในรายละเอียด

Free photo a heap of wealth success and growth generated by ai

นี่…เป็นเพียงตัวอย่างของเผือกร้อน ๆ ของกระทรวงการคลังเท่านั้น ยังมีเรื่องของการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ ที่ตัวของ “ศิริกัญญา” เองตั้งเป้าหมายจะเข้ามาดำเนินการให้ได้ อาจเป็นปีงบประมาณ 68 และยังมีอีกสารพัดเรื่อง แม้อาจเป็นความตั้งใจดี แต่ความตั้งใจกับ “ของจริง” บางทีก็อาจต้องยอมแพ้ เพราะระหว่างทาง…ใช่ว่าจะเป็นอย่างที่ใจนึก!! ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง และที่เหนือสิ่งอื่นใด หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่พลิกโผ…หรือเกิดกลับตาลปัตร ไม่ได้อยู่ในมือของพรรคก้าวไกล ณ เวลานั้น ก็ต้องมาลุ้นกันอีกครั้งว่า “ขุนคลัง” คนใหม่ จะเป็นใคร?

คลังต้องมีวินัยทางการเงิน

“สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทย บอกว่า รมว.คลัง จำเป็นต้องมีวินัยทางการเงินหากจะมาควบคุมเงินของประเทศ ต้องดูว่าโครงการไหนมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมามีบางนโยบายที่นำเงินของภาครัฐไปลงทุนแต่เอื้อสัมปทานของนายทุน เช่น โครงการรถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการนำเงินกู้ของประเทศไปให้กับนายทุนเก็บผลประโยชน์ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะประชาชนยังต้องจ่ายค่าโดยสารราคาแพง ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เพื่อลดภาระให้กับประชาชน

“รมว.คลัง ต้องเปลี่ยนความคิดให้ประชาชน มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำและนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ดีกว่า หลังจากที่ผ่านมาได้นำเงินมูลค่ามหาศาลไปให้เอกชนทำกำไร ส่วนประชาชนไม่ได้ใช้ของราคาถูก โดยว่าที่ รมว.คลัง คนใหม่จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้ผู้หญิงกับผู้ชายไม่มีใครด้อยกว่ากัน และผู้ชายบางครั้งอาจทำงานได้ละเอียดไม่เท่าผู้หญิง และยังขึ้นอยู่กับโอกาสของผู้ร่วมงานข้าราชการว่าจะเปิดใจหรือปิดกั้น ซึ่งที่ผ่านมาเท่าที่เห็นจะเป็นเหล้าเก่าวนในขวดใหม่ตลอด ซึ่งที่ผ่าน ๆ มา เราไม่ได้กินเหล้ารสชาติใหม่เลยจึงอยากเห็นอะไรใหม่ ๆ กันบ้าง”

นอกจากนี้ในเรื่องอายุเองก็ไม่สำคัญเพราะหากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแล อาจจะไปได้ไกลกว่าคนแก่ที่ทำเรื่องเดิม ๆ ย่ำอยู่กับที่ทำให้ไปไกลไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเรามีทรัพยากรที่สมบูรณ์แบบแต่เศรษฐกิจกลับไม่เติบโต

เร่งทำเรื่องขาดดุลดิจิทัล

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ที่ปรึกษาและนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย และกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ตลาดดอทคอม (TARAD.com) บอกว่า อยากเสนอให้ รมว.คลัง คนใหม่เร่งทำเรื่องขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย จากที่เก็บข้อมูลมา พบว่า คนไทย ซื้อบริการด้านออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ซื้อไอคลาวด์ ซื้อสติกเกอร์ และสมัครดูคอนเทนต์สตรีมต่าง ๆ เป็นต้น มีตัวเลขสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี ทีเดียวแต่ไม่เคยมีใครมองเป็นการขาดดุลการค้าทางดิจิทัลเลย จึงอยากให้นำตัวเลขเหล่านี้ไปคำนวณด้วย เพราะสูงกว่าการนำเข้าน้ำมันหรือส่งออกข้าวด้วยซ้ำ ขณะที่ในญี่ปุ่นได้ทำเรื่องนี้กันแล้ว

นอกจากนี้อยากให้มีการควบคุมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพราะตอนนี้อยู่ในมือต่างชาติเกือบ 100% มีเพียงสองเจ้า คือ ลาซาด้า กับ ช้อปปี้ ที่คุมตลาดแบบเบ็ดเสร็จ จึงควรดูว่ามีการผูกขาด เรื่องการค้าดิจิทัล โดยเฉพาะในฝั่งมาร์เก็ตเพรส ว่าจะมีมาตรการป้องกันได้อย่างไร เพราะเมื่อมีการผูดขาดย่อมตามมาด้วยการขึ้นราคา หรือขึ้นค่าธรรมเนียมค่าใช้แพลตฟอร์ม ทำให้คนที่ค้าขายออนไลน์ต้องเดือดร้อน ขณะที่การจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ทั้ง การเก็บภาษีความมั่งคั่ง หรือภาษีคนรวย และขึ้นภาษีนิติบุคคล ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้ยาแรงทันที อาจมีผลกระทบวงกว้างต่อคนหรือภาคธุรกิจ อาจปรับตัวไม่ทันหากปรับขึ้นทันที

ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์