จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของขี้หมูที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัว ปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ขณะที่นายอำเภอสหัสขันธ์ เรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหาทางออก เดดไลน์แก้ปัญหาระยะเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์ และแก้ปัญหาทั้งระบบภายใน 2 เดือน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

คืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และปรับทุกข์กันถึงปัญหาที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงหมู เนื่องจากการแก้ไขปัญหายังไม่เบ็ดเสร็จ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังจะต้องกู้เงิน ธ.ก.ส. อีกรายละ 400,000 บาท เพิ่มจากที่กู้รอบแรก 6,400,000 บาท รวมเป็นยอดเงินที่กู้ยืม ธ.ก.ส. มาลุงทุนเลี้ยงหมูถึง 6,800,000 บาท หรือบางรายสูงถึง 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ก้อนใหญ่ สร้างความตกอกตกใจให้กับคนเลี้ยงหมูและชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนเลี้ยงหมูที่สูงมาก มากกว่าการประกอบอาชีพอื่นก็ว่าได้ ซึ่งหากเกิดปัญหาในระหว่างการเลี้ยง หรือมีเหตุติดขัด ไปต่อไม่ได้ จะไม่ติดหนี้ยาวนานถึงรุ่นลูกรุ่นหลานหรือ

นายหนูเดือน โคตะนนท์ อายุ 56 ปี หนึ่งในชาวบ้านถ้ำปลา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นขี้หมูเหม็น และมีญาติเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านและผู้เลี้ยงหมูบ้านถ้ำปลาวิตกก็คือ การแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจะจบสมบูรณ์หรือไม่ ในเมื่อทุกวันนี้ตนและชาวบ้าน ยังคงสูดกลิ่นเหม็นของขี้หมูแทนอากาศบริสุทธิ์มานานกว่า 2 เดือนแล้ว ถึงแม้ทางเอกชนและผู้ประกอบการเลี้ยงหมู จะบอกว่าแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นในระยะแรก โดยติดตั้งม่านน้ำและใช้สารจุลินทรีย์ดับกลิ่นแล้วก็ตาม แต่ความจริงกลิ่นเหม็นก็ยังคงมีอยู่ และยังสร้างความรำคาญให้กับชาวบ้านที่อยู่ใต้ทิศทางลม เพราะพอลมพัดมาจากทิศทางที่ฟาร์มเลี้ยงหมูตั้งอยู่ ก็จะพัดพากลิ่นเหม็นมาด้วย

นายหนูเดือน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนที่ว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งการฝังกลบบ่อบำบัดน้ำเสียและติดตั้งระบบไบโอแก๊ส หรือเปลี่ยนขี้หมูเป็นพลังงานเชื้อเพลิงนั้น จะมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะต้องกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพิ่มอีก รวมจากที่กู้รอบแรก 6,400,000 บาท รวมเป็นยอดเงินที่กู้ยืม ธ.ก.ส. มาลงทุนเลี้ยงหมูถึง 6,800,000 บาท ขณะที่บางคนกู้มาลงทุนถึง 8,000,000 บาทก็มี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าความเหม็นจะมีอำนาจทำให้คนเป็นหนี้มากขนาดนี้

“หากเกิดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่างการเลี้ยงหมู และไม่สามารถเลี้ยงหมูในรุ่นต่อๆ ไปได้ จะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. โฉนดที่ดินที่นำไปหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนองกับ ธ.ก.ส. จะไม่ถูกยึดหรือ จึงรู้สึกเป็นห่วงและวิตกทุกข์ร้อนไปกับญาติพี่น้องที่ร่วมลงทุนเลี้ยงหมูกับนายทุนเป็นอย่างมาก จึงอยากเรียกร้องไปยังคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ได้จัดคนมาพูดคุยกับทางบริษัทเอกชน ที่เป็นฝ่ายชักชวนชาวบ้านเลี้ยงหมูให้ชัดเจนสักที เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูถูกลอยแพ เนื่องจากการแก้ปัญหายังไม่จบ ทั้งยังให้คนเลี้ยงหมูมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย” นายหนูเดือน กล่าว