จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้อง กรณีนายพิธามีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี แต่ให้รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ โดย กกต. เห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาจะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา จึงเห็นควรพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ

อย่างไรก็ตาม กรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอจะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า นายพิธาเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม แต่กลับสมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนที่ได้รับแต่งตั้ง จะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทลงโทษ ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คือ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนดยี่สิบปี

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า แผนพิฆาต

ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกให้เสียงคนส่วนมากลงคะแนน

ฝ่ายใดรวมกันได้เกินครึ่งเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ หัวหน้าพรรคคะแนนมากสุดเป็น “นายกฯ”

แต่ประเทศไทย เลือกตั้งไปแล้ว คะแนนก็เห็นกันหมด จนถึงวันนี้ยังไม่รู้ทิศทาง

วนเวียนอยู่กับ “หุ้นสื่อ” ตีความไปมา ร้องกันไม่หยุดหย่อน ยอกย้อนซ่อนเงื่อน

ประเทศตุรกีเลือกตั้งพร้อมกับไทย แค่ 3 วัน ได้รับมอบทำงานต่อ ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนอย่างไทย

คาดว่าอีกนานกว่าจะรู้ “ใครเป็นนายกฯ?”

แค่หุ้นสื่อที่ปิดไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็จะเอาให้ได้

กกต. ดูเหมือน “ยกคำร้อง”

แต่กลับเป็นว่า “หนักกว่าเดิม”

นี่ยังไม่พูดถึงเรื่อง ส.ว. ที่ต้องมา “ช่วยเลือก” นายกฯ อีก

ทำไมระบอบประชาธิปไตยเรามันถึงยุ่งยากมากนักวะ!?