เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องยื่นคำร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบ การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่าเข้าขายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ ซึ่งเป็นการยื่นใหม่หลังจาก กกต. ปัดตกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการยื่นเกินเวลา

นายนพรุจ ระบุว่า การที่ กกต. ปัดตกคำร้อง แต่ไม่ได้แปลว่าเรื่องนี้ตกไป แต่เป็นความปรากฏต่อ กกต. จึงสั่งดำเนินคดีอาญามาตรา 151 วันนี้ตนจึงมายื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบเป็นกรณีใหม่ ซึ่งเป็นการยื่นหลังการเลือกตั้ง กรณีนายพิธาโอนหุ้นให้บุคคลอื่นหลังการเลือกตั้ง โดยพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. หรือไม่ หากพบเข้าข่ายมีความผิด ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หาก กกต. ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้า ตนจะไปยื่นต่อ ส.ส. ที่จะได้รับการรับรอง พร้อมข้อมูลหลักฐาน เพื่อให้เข้าชื่อ 1 ใน 10 คน โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา ส่งตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย รวมทั้งยื่นให้กกรมการวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบหุ้นของวุฒิสภาให้ทำการตรวจสอบ ถ่วงดุลกับ กกต.

ขอย้ำว่าตนจะนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะต่อไป โดยยืนยันว่าตนไม่ได้ทำนิติกรรมสงคราม แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายนิติรัฐ ดำเนินการโดยนิติธรรม บังคับใช้กับประชาชนทุกคนไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง จึงขอให้ทุกพรรคอย่านำมาเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้ง สร้างวาทกรรมให้เกิดความสับสน เพราะความผิดปรากฏตามกฎหมาย และข้อมูลที่ตนนำมายื่นนั้นเป็นข้อเท็จจริง แม้ กกต. จะปัดตกด้วยเทคนิคต่างๆ ด้วยข้อกฎหมาย แต่ตนจำเป็นต้องยื่นซ้ำ โดยให้ กกต. ก่อนที่ตนจะยื่นหลักฐานให้ ส.ส.

เมื่อถามถึงกรณีมีการเปิดเผยคลิประบุว่า ไอทีวีเป็นสื่อแต่อยู่ระหว่างรอดำเนินกิจการ โดยยังรอผลของข้อพิพาทคดีที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ให้จบก่อน นายนพรุจ กล่าวว่า ข้อเท็จจริง แม้แต่หุ้นเดียวหรือปิดกิจการเหมือนวีลัคมีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ศาลจะตรวจดูว่าถ้าชื่อตรงกับสื่อมวลชนก็จะไม่แปลความเป็นอย่างอื่น แม้แต่ปิดกิจการไปแล้วก็ต้องได้รับโทษ อย่างกรณีนายสุรโชค ทิวากร ผู้สมัครพรรคไทยภักดี ที่ถือหุ้น บริษัท อสมท จำกัด มหาชน เพียง 1 หุ้น หุ้นละ 5 บาท ซึ่งไม่มีโอกาสครอบงำสื่อเลย และไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ตามกฎหมายเมื่อเข้ามาสมัครแล้ว คุณรู้อยู่แล้วแต่จงใจสมัคร ก็ต้องได้รับโทษ ส่วนหลักฐานที่ตนนำมาในวันนี้นั้น เป็นคำสัมภาษณ์ของนายพิธา ที่ยอมรับต่อสื่อว่า ได้โอนหุ้นทายาท ส่วนเรื่องบริษัทไอทีวีปิดหรือไม่ปิดนั้น ตนจะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมหลัง กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ประกอบการพิจารณา

“ใครจะไปดำเนินการแจ้งความเท็จ มันจะกลายเป็นเท็จซ้อน ต้องฝากด้วย เพราะว่า กกต. เป็นคนพูดว่า ความปรากฏ คุณต้องไปตีความคำว่า ความปรากฏก่อน คือความจริงไม่ใช่ความเท็จ ไม่อย่างนั้น กกต. จะถูกดำเนินคดีเอง ถ้าเอาความเท็จไปดำเนินการ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายพิธาออกมาบอกว่ามีความพยายามฟื้นไอทีวีให้เป็นสื่อ เพื่อเล่นงานตัวเองนั้น นายนพรุจ กล่าวว่า เป็นวาทกรรมและอาจจะเป็นมโน ซึ่งนายพิธามีสิทธิคิดและต่อสู้ เพราะถูกกล่าวหา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา แต่ทุกอย่างและข้อเท็จจริงจะปรากฏในชั้นศาล ที่มาร้องเพราะตนต้องการให้ผู้ถูกร้องต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ไม่ใช่กฎหมู่ ตนไม่สนับสนุนการลงถนน ขอให้ กกต. ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ โดยยึดตามสโลแกนใหม่ “กกต. สุจจิต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” แต่ตนได้พยายามย้ำว่า สุจริต โปร่งใส หากไม่มีคำว่าโปร่งใสก็ไม่เป็นอะไร แต่ขอให้ กกต. ทำหน้าที่เป็นข้าราชการของแผ่นดิน เป็นข้าราชการของพระราชา และเป็นข้าราชการของประชาชนด้วย

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่พรรคก้าวไกลพยายามเปิดโปงว่าเป็นแผนที่ต้องการล้มพรรคก้าวไกล นายนพรุจ กล่าวว่า ขณะนี้เขากำลังจุดประเด็น อาจจะมีสื่อมวลชนบางส่วนไปจุดประเด็น แต่ต้องบอกว่า ประเด็นจริงๆ แล้ว ก็เหมือนที่ กกต. ออกมาแถลงว่า ในวันที่ลงสมัครถือหุ้นสื่อหรือไม่ จริง ไม่จริง และสื่อยังดำเนินการหรือว่าเลิกไปแล้ว แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่มีการจุดประเด็นไปเรื่องอื่น อาจจะเป็นการขยายปม ซึ่งตนไม่สนใจ.