เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ผู้สื่อข่าวชื่อดัง จากรายการข่าว 3 มิติ ได้รายงานข้อพิรุธงบการเงินไตรมาสที่ 1/2566 ของบริษัทไอทีวี ที่ระบุเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา ตรวจสอบสถานะการดำเนินกิจการสื่อ ที่ผู้ถือหุ้นอยากให้ชี้แจง และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ได้ลาออกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ โดยไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้ “แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” เปิดข้อมูลเกี่ยวกับแบบนำส่งงบการเงินไตรมาสแรกของปี 2566 ที่พบการระบุประเภทธุรกิจสื่อว่าเป็น สื่อโทรทัศน์ โดยมีสินค้าและบริการเป้นสื่อโฆษณา

จากเอกสารแบบนำส่งงบการเงิน ของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที 10 พ.ค.66 เป็นงบการเงินบัญชีรอบปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค.65 ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 และเอกสารรายงานความเห็นการสอบบัญชี วันที่ 24 พ.ค. 66 ระบุว่า บริษัทไอทีวี มีประเภทธุรกิจเป็นสื่อโทรทัศน์ สินค้า สื่อโฆษณา และผลตอบแทนจากการลงทุน ประกอบกับงบแสดงฐานะการเงิน วันที่ 31 มี.ค.66 ของบริษัทไอทีวี และบริษัทย่อยที่ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบและเป็นร่างสำหรับใช้งานภายใน มีรายได้เป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับกว่า 6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริการกว่า 2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตอบแทนในการบริการ 1.5 แสนบาท และมีกำไรจากกิจกรรมดำเนินงาน 3.8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน ระบุว่า วันที่ 24 ก.พ.66 บริษัทมีการลงสื่อให้กิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย.66 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินการธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทมีการให้บริการกลุ่มบริษัทข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รนายได้ในไตรมาส 2 ปี 2566

จากเอกสารมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญการเงินว่า งบการเงินไตรมาส 1/2566 แตกต่างจากงบการเงินปี 2565 ที่ไม่มีการระบุว่า เป็นสื่อโฆษณา มีเพียงระบุรายได้ที่มาจากการลงทุน ซึ่งตรงกับงบการเงินของบริษัทไอทีวี นับจากถูกยกเลิกสัมปทานปี 2550-2565 เวลา 15 ปี ก็ไม่มีรายได้จากสื่อโฆษณา ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผู้บริหารบริษัทไอทีวี ตอบว่า “ยังไม่ดำเนินการใด ๆ”

แต่ในวันที่ 28 เม.ย.66 เพียง 2 วันหลังการประชุม กลับมีรายงานในงบการเงิน ว่าให้บริการลงสื่อโฆษณา และวันนำส่งบัญชีก็ตรงกับวันนำยื่นคำร้องคดีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 10 พ.ค. 66 ด้วย

ระหว่างดำเนินรายการ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงเอกสารงบการเงินไตรมาสแรกของปี 2566 ว่า เท่าที่ไล่ดู เนื้อหาน่าจะเป็นแบบเดียวกับที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นำไปยื่นประกอบการร้องเรียน มีคำว่า สื่อโฆษณาอยู่ในเอกสาร 2 จุด คือ 1.รายละเอียดบริษัทย่อย ที่กำหนดลักษณะธุรกิจ คือ ให้เช่าป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมแจ้งว่า ปัจจุบันหยุดดำเนินธุรกิจ  และ 2.หมายเหตุประกอบงบการเงินแบบย่อ ข้อ 10 ระบุว่า เมื่อ 24 ก.พ.66 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และ 28 เม.ย.66 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณา พร้อมระบุว่า จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

ทั้งนี้บริษัทไอทีวี ใช้พนักงานและอุปกรณ์อะไรในการให้บริการสื่อโฆษณา เพราะตอนที่ถูกสั่งให้ยุติการออกอาการ อุปกรณ์ถูกโอนย้ายให้ ไทยพีบีเอสทั้งหมด และ มีการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ บริษัทไอทีวีไม่มีที่ตั้งบริษัทเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะมีการจ้างขอใช้ที่ตั้งบริษัทอินทัชเป็นที่อยู่เดียวกัน ซึ่งจ่ายค่าเช่าที่อยู่ปีละ 2 แสนบาท

ขณะที่ ในงบประจำปี 2565 ทั้งปี ไม่พบว่ามีข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับ สื่อโฆษณาเลย ยกเว้นใบปะหน้า แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) แต่เรื่องสื่อโฆษณา มาอยู่ในเอกสารไตรมาส 1 ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อพิรุธ ว่า เอกสารผิดพลาดหรือไม่ ไม่ต้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่ นี่จึงถือเป็นข้อสังเกตใหม่ล่าสุด ที่ตั้งคำถามมาจากนักเศรษฐศาสตร์ จุดนี้ถือเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงและข้อโต้แย้ง ว่า บริษัทไอทีวี เป็นสื่อโฆษณาจริงตามที่ระบุใน เอกสารจริงหรือไม่.

ขอบคุณภาพและข้อมูล ข่าว 3 มิติ