เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์ เด็ก สตรี ครอบครัวป้องกันปรามการค้ามนุษย์ในภาคประมง พร้อมด้วยนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ร่วมกันแถลงจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐ 5 นาย และพลเรือน 2 ราย รวม 7 ราย หลังร่วมกันทุจริตยักยอกขายปลาปันส่วนจากการยึดของกลางเรือประมง จากประเทศโซมาเลียนำเข้ามายังประเทศไทย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ตำรวจร่วมกับกรมศุลกากร และกรมประมง จับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตการขายปันส่วนปลาแช่แข็งที่ตรวจยึดจากเรือทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งมีพฤติการณ์ชักธง 2 สัญชาติ นำเอาปลาเบญจพรรณ ซึ่งเป็นน้ำลึกคุณภาพดี 7 ตู้คอนเทเนอร์ รวม 147 ตัน มาลงยังด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ 6 ตู้ และด่านศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 1 ตู้ รวมมูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแสดงเอกสารใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำจากกรมประมงได้ จึงไม่อนุญาตให้นำปลาเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย และตรวจยึดของกลางไว้เพื่อขายปันส่วนปลาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือชุมชนโดยรอบตามขั้นตอน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม พบว่าไม่มีการขายปันส่วนจริง เพราะมีการนำรายชื่อบุคคล 96 รายชื่อมาสวม และจำหน่ายปลาให้กับบุคคลคนเดียว แล้วเงินบางส่วนไม่เข้ารัฐ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรและพลเรือนที่เกี่ยวข้อง 7 ราย มี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และหัวหน้าฝ่ายของกลางที่ทำหน้าที่หัวหน้าการขายปันส่วนสัตว์น้ำ ร่วมอยู่ด้วย เบื้องต้นจึงแจ้งข้อกล่าวหา กระทำความผิดตาม มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, มาตรา147 เป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์โดยทุจริต และมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฯ และได้ส่งสำนวนฟ้องแล้วทั้งหมด ส่วนผู้ที่ซื้อปลาไป เป็นเอเย่นต์ซื้อขายปลารายใหญ่ที่สมุทรปราการ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับแพปลาในราคาที่ถูกกว่าปกติ หลังจากนี้จะต้องสืบสวนไปถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องและทราบตัวแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป

นายพชร อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ภายหลังได้รับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมจากตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาบทลงโทษเพิ่มเติมตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย แบ่งเป็น 1.หัวหน้าฝ่ายของกลางและของตกค้างฯ ทำหน้าที่หัวหน้าการขายบางส่วนสัตว์น้ำ 2.กรรมการขายปันส่วนสัตว์น้ำ และ 3.กรรมการขายปันส่วนสัตว์น้ำ โดยทั้ง 3 ราย ถูกแจ้งข้อหา เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และอีก 2 ราย คือนิติกรชำนาญการพิเศษ กรมศุลกากร/ผู้ตรวจสอบ และนิติกร กรมศุลกากร/ผู้ตรวจสอบ ถูกแจ้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ส่วนพลเรือนอีก 2 ราย เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้รับซื้อปลาแต่ไม่ชำระเงินเข้าระบบ และผู้สนับสนุนการทุจริตขายบางส่วนโดยการเหมาซื้อโดยผิดขั้นตอน แจ้งข้อหาเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ก่อนนำตัวทั้งหมดส่งดำเนินคดีตามกฎหมายและวินัยต่อไป