เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เวลา 10.18 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เข้ารับหนังสือรับรอง ส.ส. จาก กกต. ในส่วนของตัวเอง และรับมอบหนังสือรับรองฯ แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าทุกคนดีใจที่ได้เดินทางมารับหนังสือรับรอง ส.ส. เพื่อไปรายงานตัวต่อสภา ส่วนตัวก็รับมอบหมายให้รับหนังสือแทน พล.อ.ประวิตร ด้วย เพราะท่านติดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายท่านจะไปรายงานตัวที่สภาด้วยตัวเอง สำหรับทิศทางทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก กกต. ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ดังนั้น คณะกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค ได้มอบหมายให้ตนประสานงานกับ ส.ส. ทุกคนว่า ให้อยู่เงียบๆ นิ่งๆ เพราะมารยาททางการเมืองที่ กกต. ยังไม่รับรอง ก็ไม่ควรมีการเคลื่อนไหวอะไรภายในพรรค

เมื่อถามว่า ทิศทางพรรคพลังประชารัฐหลังจากนี้ จะเป็นอย่างไร จะมองเรื่องการพลิกขั้วกลับมาตั้งรัฐบาลหรือไม่ หากพรรคที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งไม่สำเร็จ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา เราคุยกันตลอด เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคได้มอบนโยบายว่า โดยมารยาททางการเมืองในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ที่เรานิ่งเพราะต้องการให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากสุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่หลังจากนี้ไปพรรคเราก็จะอยู่นิ่งๆ เช่นกัน จนกกว่าจะมีการเปิดสภา

เมื่อถามว่า หากการโหวตนายกฯ ไม่สำเร็จ เนื่องจากติดล็อกที่ ส.ว. โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับพรรคเพื่อเป็นไปได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา จะมีข่าวดีลลับอะไรก็มา เรียนตรงๆ ว่าไม่เคยมีเรื่องพวกนี้ ดังนั้นการกำหนดทิศทางของพรรคในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับการประชุมกรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรค ทั้งนี้การเมืองเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย หลายทิศทาง แต่ข้อเท็จจริงในฐานะที่ตนใกล้ชิดกับหัวหน้า และคุยกันทุกวันแล้วรับรองว่าไม่มีดีลอะไรทั้งนั้น

เมื่อถามว่าการโหวตเลือกนายกฯ พรรคพลังประชารัฐให้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการประชุม ส.ส. เร็วๆ นี้ ถึงเรื่องทิศทาง แต่เบื้องต้น คงเป็นมติพรรคมากกว่า เมื่อถามย้ำว่า ควรเป็นพรรคอันดับหนึ่ง เป็นนายกฯ หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า คิดว่ามี 2 ประเด็น 1. การโหวตประธานสภา เนื่องจากการเลือกประธานสภา เป็นเรื่องของ ส.ส. ก็เป็นสิทธิของ ส.ส. ที่จะโหวตใครเป็นประธานฯ ส่วน 2 เรื่องนายกฯ เนื่องจากเป็นการโหวตของ 2 สภา ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องเคารพว่ากำหนดว่าอย่างไร แต่ทิศทางว่าจะเลือกใครนั้น ทางหัวหน้าพรรคให้นโยบายอยู่แล้วว่า ควรจะให้พรรคที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เสียงข้างมากในการรวบรวมจัดตั้งรัฐบาล และโหวตนายกฯ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นมติของพรรคว่าจะกำหนดอย่างไร แต่อย่าลืมว่าในสภา มี ส.ส. 500 คน ดังนั้น พรรคไหนที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมาก และชนะในการโหวตที่จะเลือกบุคคลมาเป็นนายกฯ ก็ต้องเคารพกติกา

เมื่อถามต่อว่า พรรคพลังประชารัฐจะเสนอรายชื่อบุคคลรับการโหวตเป็นประธานสภาหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ทุกพรรคมีโอกาสเสนอหมด และไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นคนเสนอ ส่วนรอบนี้ยังไม่ได้มีการคุยกัน ส่วนที่มีปรากฏชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ เข้ารับการโหวตนั้น ส่วนตัวได้ยินมาพร้อมกับสื่อ แต่ยังไม่ได้พูดคุยกัน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้หมด

ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการไปรายงานตัว ส.ส. ที่รัฐสภา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. แล้วว่า ทางเลขาธิการพรรค รทสช. จะเป็นผู้นัดอีกครั้งว่าจะไปพร้อมกันวันไหน ซึ่งวันนี้เห็นแล้วว่า กกต. ทำงานรวดเร็ว พวกเราต้องชื่นชม ในส่วน ส.ส. ใหม่ของพรรคจะมีการสัมมนากันภายในเพื่อพูดคุยให้เข้าใจถึงระเบียบ วิธีการ จากนั้นจะจัดสัมมนาในต่างจังหวัด เพราะในพรรคเองยังไม่เคยพูดคุยกัน มีหลายอย่างที่ผู้สมัครรุ่นใหม่ ส.ส. รุ่นใหม่ สะท้อนมาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพรรค เราจะนำข้อมูลเหล่านี้มาพูดคุยและทำงานให้พรรคเข้มแข็งมากขึ้น

เมื่อถามถึงการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น นายธนกร กล่าวว่า พรรคจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน ตนเข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจะมีการพูดคุยกันด้วย เพราะทุกพรรคมีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรค และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละพรรคได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อถามต่อว่าพรรค รทสช. จะเสนอชื่อประธานสภา แข่งหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า ตนคงตอบแทนไม่ได้ เพราะต้องประชุมพรรคก่อน ส่วนพรรค รทสช. จะเป็นโต้โผหลักรวบรวม 50 รายชื่อ ส.ส. เพื่อขอตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน เมื่อ กกต. รับรองว่าที่นายกฯ แล้ว กลไกในการพิจารณาคดีต่างๆ มันคงเดินได้ ก่อนหน้านี้ที่มีคนไปยื่นตรวจสอบก็ดำเนินการไปแล้ว แต่เมื่อมีการรับรอง ส.ส. แล้ว สถานะจะเปลี่ยน เพราะจะเข้าเงื่อนไขกฎหมายทั้งหมด ฉะนั้น กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญคงต้องดำเนินการ

เมื่อถามอีกว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ส. หรือ กกต. ในการยื่นตีความคุณสมบัตินายพิธา เรื่องการถือหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 นายธนกร กล่าวว่า ไม่ได้เป็นหน้าที่ของใคร แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ท่านเกี่ยวข้อง ท่านก็ต้องดำเนินการ ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วว่า กระบวนการต่างๆ เขาดำเนินการมาอย่างไร ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย กกต. ก็ต้องไปดู อย่างไรก็ตาม หากว่าที่นายกฯ มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เราก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าองค์กรที่ตรวจสอบจะตัดสินตอนไหน หรืออาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ ต้องดูกันก่อน.