เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่กรมทรัพยากรธรณี นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยน.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายธนิต ใจสะอาด วิศวกรโยธา และนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ร่วมแถลงข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 ระดับความลึก 10 กม. บริเวณตอนเหนือทะเลอันดามัน เมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จ.ตาก ประมาณ 289 กม. ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 490 กม. ในวานนี้ (19มิ.ย.) เวลา 08.57 น. ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และจ.ปทุมธานี ในบางพื้นที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน 

นางอรนุช กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา มีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 ซม./ปี ซึ่งรอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผ่นดินไหวในอดีต เมื่อปี 2473 ขนาด 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเมียนมากว่า 500 คน และจากสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี (พ.ศ.2516-2566) ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย เกิดเหตุแผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 โดยเหตุการณ์ 7.0 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2534 อย่างไรก็ตามจากสถิติในคาบ 100 ปี จึงเป็นไปได้ว่าภายใน 5 – 10 ปีข้างหน้า รอยเลื่อนสะกายจะแผงฤทธิ์เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบมาถึงพื้นที่กทม.เสมือนแผ่นดินไหวในระดับ 4 เนื่องจากกทม. เป็นชั้นดินเหนียว สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 – 4 เท่า จึงทำให้อาคารสูงสั่นโยก และอาจเสียหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหว 

นางอรนุช กล่าวว่า ส่วนโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวตามรอยเลื่อนสะกาย อาจจะเกิดสึนามิ และจะกระทบต่อจังหวัดทางฝั่งทะเลอันดามันหรือไม่ นางอรนุช กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับรอยเลื่อนสะกายในทะเลอันดามัน ซึ่งมีกลไกแบบ Strike-slip moment หรือ รอยเลื่อนตามแนวระดับเดียวกัน จึงมีโอกาสทำให้เกิดสึนามิน้อยมากๆ ถึงไม่มีโอกาสเลย 

ด้าน น.ส.ชมภารี กล่าวว่า สำหรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รวบรวมข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติงาน SOP มีการแจ้งเตือนผ่านทาง SMS Fax เว็บไซต์ของกรม และที่ผ่านมากรมอุตุฯ ได้จับมือ LINE ประเทศไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน “LINE ALERT” ตั้งแต่เดือนต.ค.2565 ซึ่งเป็นบัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติ สภาพดินฟ้าอากาศ ฝุ่นละออง ให้ประชาชนรับทราบ สามารถติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างทั่วถึงทันเวลา 

ขณะที่นายธนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่กทม. เป็นชั้นดินเหนียวซึ่งมีความอ่อนไหวจากแรงสั่นสะเทือน จึงมีการกำกับดูแลอาคารก่อสร้างเพื่อป้องกันผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ.2540) และมีผลบังคับใช้ 11 พ.ย. 40 มีการควบคุมใน 10 จังหวัด ที่ต้องมีการออกแบบโครงสร้างให้รองรับกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ต่อมามีการแก้ไขกฎกระทรวงฯ แผ่นดินไหว พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ 30 พ.ย. 50 ควบคุมเพิ่มเติมใน 22 จังหวัด และล่าสุดแก้กฎกระทรวงฯ แผ่นดินไหว พ.ศ.2564 บังคับใช้ 31 ส.ค. 64 มีการควบคุมในพื้นที่ 43 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่เสี่ยงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 

นายธนิต กล่าวว่า ภายหลังการกำกับดูแลอาคารก่อสร้าง จะมีความแข็งแรงมั่นคงเพียงพอแล้ว ส่วนอาคารเก่าที่สร้างมาก่อนกฎหมายบังคับปี 2550 อยากให้เจ้าของอาคารสถานที่หมั่นตรวจเช็คอาคารว่ามีความเสื่อมสภาพหรือไม่ หากต้องการเสริมโครงสร้างให้มั่นคงแข็งแรง กฎหมายจะเปิดช่องให้เสริมโครงสร้างรองรับต่อแรงสั่นสะเทือนเพื่อความปลอดภัย แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากท้องถิ่นที่ดูแลในพื้นที่นั้นๆ ด้วย 

ส่วนหากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลือนสะกายอีก 5- 10 ปีข้างหน้า ขนาด 7.5 จะส่งผลกระทบในพื้นที่กทม. ในระดับ 4 จะส่งผลกระทบต่ออาคารอย่างไรบ้าง นายธนิต กล่าวว่า หากเป็นอาคารเก่า อาจมีผลเสียหายแค่ปูนร้าว ปูนกะเทาะเท่านั้น แต่ไม่กระทบต่อโครงสร้างหลัก อย่างไรก็ตามจะมีการสำรวจอาคารเก่าสร้างก่อนปี 2550 ความสูงอาคาร 15 ม. หรือประมาณ 5 ชั้น ในกทม.คาดว่ามีแค่หลักร้อยตึก เพื่อช่วยดูแลอาคารก่อสร้างให้มีความแข็งแรงรองรับต่อแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวได้