เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน โครงการสถานศึกษาปลอดภัย การพัฒนาทักษะอาชีพและพัฒนาศักยภาพพลเมืองสู่ตลาดแรงงาน การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร พร้อมเยี่ยมชมการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย Co-learning Space แหล่งเรียนรู้มีชีวิต ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตนได้เห็นถึงความตั้งใจในการดำเนินงานตามนโยบายของศธ.ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ co learning space ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ในห้องสมุดในมิติใหม่ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบัน ทั้งการแบ่งพื้นที่เป็น 6 โซน เช่น Working Zone โซนส่งเสริมการอ่าน โซน IT โซนกิจกรรม โซนผ่อนคลาย และโซนร้านกาแฟ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ในหลากหลาย นอกจากนี้ยังได้มีกิจกรรมของผู้สูงอายุ ทั้งกิจกรรมสันทนาการ และการฝึกอาชีพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ ผ่านการดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตของสถานศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาสมรรถนะของผู้สูงอายุ ตามนโยบาย ศธ. ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุได้มีการพัฒนาและคงสมรรถนะในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อคงคุณภาพชีวิตที่ดีในการใช้ชีวิตในสังคมผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามโครงการพาน้องกลับมาเรียนของพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า มีเด็กที่หลุดระบบการศึกษาของที่จังหวัดนี้ ประมาณ 100 คน ซึ่งพื้นที่บริหารจัดการด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ระดับจังหวัด เพื่อนำเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะเดียวกันในส่วนของการจัดการอาชีวศึกษา อยากให้มีความร่วมมือกับสถานประกอบการในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเป็นแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ด้านวิชาชีพและมีโอกาสสร้างงานด้วย

“ทั้งนี้จากการประชุมรับฟังนโยบายการจัดการศึกษาของ จ.สุราษฎร์ธานี ในภาพรวมบริหารจัดการได้ดี แต่ยังพบปัญหาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้ช่องทางจากการเรียนวิชาชีพในกลุ่มโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เพื่อขอต่อวีซ่าในการอยู่ประเทศไทยไปเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลต่อภัยความมั่นคงของประเทศได้ ดังนั้นจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) โดยจะประสานข้อมูลตัวเลขว่า มีชาวต่างชาติจำนวนเท่าไหร่บ้างที่อาศัยช่องทางดังกล่าว เพื่อจัดทำให้เป็นมาตรฐานและป้องกันเรื่องความมั่นคงของประเทศด้วย” รมว.ศธ. กล่าว

ด้าน ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า สำหรับประเด็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้ช่องทางมาเรียนในโรงเรียนเอกชนนอกระบบเพื่อขอต่อวีซ่านั้น สช. พบข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเราได้ประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบแล้ว พร้อมกับกำชับโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่เปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ให้เข้มงวดกับเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกระงับการรับนักศึกษาใหม่อย่างเด็ดขาด.