เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านหนองเขื่อนช้าง ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม หลังรับแจ้งมีผู้บริโภคเห็ดพิษเสียชีวิต โดยบ้านหลังดังกล่าว มีการจัดงานบำเพ็ญกุศล นางเคน (สงวนนามสกุล) อายุ 79 ปี โดยมีเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาร่วมงานกว่า 20 คน ท่ามกลางความโศกเศร้า

สอบถามลูกชายผู้เสียชีวิต เบื้องต้นเล่าว่า เหตุเกิดวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ไปเก็บเห็ดป่ามาจากโคกป่ายาง ต.ท่าสองคอน ใกล้กับหมู่บ้าน เห็ดที่เก็บได้มาจะเป็นเห็ดไค เห็ดแดง เห็ดหน้าวัว และมีเห็ดที่ไม่แน่ใจอีกหนึ่งชนิด ว่ากินได้หรือไม่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าเห็ดยาง จึงนำมาให้แม่ดู ซึ่งเห็ดดังกล่าวมีลักษณะดอกสีขาวเล็ก ขายาว มียางสีขาวที่ดอกเห็ด พอแม่ดูแล้วแม่บอกว่ากินได้ แต่ตนไม่แน่ใจจะนำไปทิ้ง แต่ถูกแม่ด่าว่า บอกว่ากินได้ ให้ไปเก็บคืนมา จึงไปเก็บคืนให้

จากนั้นก็ออกไปทำงาน คาดว่าแม่นำเห็ดทั้งหมดมาแกงรวมกันรับประทาน กระทั่งเวลาประมาณบ่าย 2 แม่เริ่มมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย ถ่ายเหลว 7-8 ครั้ง จนช่วงเวลา 3 ทุ่ม ได้กินยาธาตุ อาการก็ดีขึ้น จึงไม่ได้ไปโรงพยาบาล กระทั่งเช้าวันที่ 18 มิ.ย. อาการไม่ดีขึ้น จึงไปรักษาตัวที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาสารคาม พอวันที่ 20 มิ.ย. รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่า แม่มีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แพทย์ทำ CPR ช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า นอกจากแม่จะมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดแล้ว อาจมีอาการป่วยด้วยโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ร่วมด้วย อาจส่งผลให้มีการรุนแรงจนเสียชีวิต

นายวัฒนะ ศรีวัฒนา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามรับแจ้งจากจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองมหาสารคาม ว่ามีผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยจากการบริโภคเห็ด 2 ราย คือผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 79 ปี ในพื้นที่ตำบลท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม คาดว่าบริโภค เห็ดดอกกระถิน เข้าไป ก่อนมีอาการปวดท้อง อาเจียน วิงเวียน ถ่ายเหลว เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาสารคาม แล้วเสียชีวิตดังกล่าว

ส่วนอีกรายเป็นเพศชาย อายุ 28 ปี ราษฎรตำบลบัวค้อ อ.เมือง ได้ไปเก็บเห็ดป่ามาจากป่าบ้านหนองคู-ศรีวิไล ต.หนองปลิง โดยเป็นป่าดอนของ 3 หมู่บ้านที่เชื่อมต่อกัน ได้แก่ บ้านหนองหล่ม บ้านหนองคู และบ้านหนองบัว อ.เมือง ได้เห็ดมาหลายชนิด โดยเฉพาะเห็ดเผาะฝ้ายที่มีสีขาว ก่อนที่ภรรยาจะนำมาประกอบอาหารเป็นแกงเห็ดซึ่งเคยทำมาตลอด มีคนกินด้วยกัน 4 คน คือ ผู้ป่วย บิดา ภรรยา และบุตรสาวของผู้ป่วย หลังรับประทานแกงเห็ดไปได้ 3 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน 3 ครั้ง ปวดมวนท้อง ถ่ายอุจจาระลำบาก มีอาการท้องอืดร่วมด้วย ก่อนเดินทางมาโรงพยาบาลมหาสารคาม ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้าน

ในส่วนการสังเกตเห็ดพิษนั้น หลักการง่ายๆ คือ เป็นเห็ดที่เคยรับประทาน หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรที่จะนำมาบริโภค ซึ่งปัจจุบันนี้ เห็ดที่เกิดขึ้นบางครั้งก็เกิดในป่าต้นยาง ป่าต้นยูคาลิปตัส หรือสวนป่าใกล้หมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจจะอยู่ใกล้ที่นา หรือพื้นที่ที่มีสารเคมีเจือปนอยู่ พิษอาจจะไม่ได้เกิดจากเห็ด แต่อาจจะเกิดจากสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับเห็ดก็เป็นได้

ทั้งนี้จากรายงานการพบผู้ป่วยที่มีอาการจากการรับประทานเห็ด ในปี 2566 นี้ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 4 ราย ในพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม 2 ราย อำเภอวาปีปทุม 1 ราย และอำเภอบรบือ 1 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย คือหญิงวัย 79 ปี