นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาฯ ปี 2563 ผู้อุทิศตัวทำงานเพื่อสวัสดิภาพช้างไทยมาตลอด 48 ปี จนได้รับฉายาว่า “หมอช้าง” ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นสพ.อลงกรณ์ เป็นหนึ่งในสัตวแพทย์ที่มักจะถูกเรียกตัวเสมอเมื่อมีข่าวช้างถูกทำร้าย ประสบอุบัติเหตุ หรือช้างอาละวาด การพบเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับช้างทำให้ นสพ.อลงกรณ์ ริเริ่มและผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาช้างป่าและช้างบ้าน (ช้างเลี้ยง) อย่างต่อเนื่องกว่า 48 ปี และยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานองค์กรผลักดันให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้สำเร็จ

ช้างป่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ ช้างเป็นผู้หว่านและกระจายเมล็ดพันธุ์พืชและให้ปุ๋ยบำรุงพันธุ์ไม้นานา เมื่อช้างถ่ายอุจจาระของช้างเป็นปุ๋ยชั้นดี มักมีเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมงอกเป็นต้นอ่อนและเติบโตเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและอายุยืนตามธรรมชาติ เพิ่มความหลากหลายและความหนาแน่นของต้นไม้ในป่า เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของวงจรสิ่งมีชีวิตโดยรวม”

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ

เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ ระดับออกซิเจนก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วยปริมาณความชื้นและปริมาณนํ้าฝน ซึ่งทั้งหมดหมายถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่จะดูแลหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก แต่ปัจจุบัน ภาพของช้างป่าตามที่ปรากฏในข่าว ดูจะเป็น “ผู้ร้ายทำลายพืชไร่” มากกว่า “ผู้สร้างและบำรุงป่า”

นสพ.อลงกรณ์ กล่าวว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลพวงของการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการบุกเบิกป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสภาวะโลกร้อน ที่มีผลต่อปริมาณนํ้าฝน ภูมิอากาศ ทำให้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าเปลี่ยนแปลง

เมื่อป่าได้รับผลกระทบ ขาดความสมดุลและสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ของช้างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการบริโภคอาหารและนํ้าต่อวันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาหารและนํ้าในป่าลดลง ก็ทำให้ช้างต้องเดินทางไปหาอาหารและนํ้าในพื้นที่ที่มีอาหาร ซึ่งก็ได้กลายเป็นพื้นที่การเกษตรของประชาชนไปแล้ว นสพ.อลงกรณ์ อธิบาย

ปมความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างจึงเกิดขึ้น พร้อมข้อหาช้างบุกรุกพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ นสพ.อลงกรณ์ ยกตัวอย่างสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับมนุษย์ ที่เริ่มต้นขึ้นที่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว

ปกติสัตว์ป่าจะมีสัญชาตญาณในการออกหากินในช่วงเวลาประจำของแต่ละปี โดยเฉพาะหน้าแล้ง ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ป่าขาดแคลนแหล่งนํ้า ช้างป่าจะลงมาหาแหล่งนํ้าในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นที่ประจำของช้างป่าอยู่เดิม แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ทำไร่สับปะรดของประชาชนไปแล้ว ยิ่งเมื่อเกษตรกรทำไร่สับปะรด ผลไม้ที่มีรสชาติที่ช้างชอบ อีกทั้งที่ไร่ก็มีแหล่งนํ้า ทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างป่าจำนวนมากลงมากินสับปะรดและนํ้า สร้างความเสียหายให้เกษตรกร และเกิดการหาวิธีล้มช้าง ทำให้ช้างตายเป็นจำนวนมาก”

อย่างไรก็ตามจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับเจ้าของไร่สับปะรด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณตั้งกรรมการเพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อสับปะรดในไร่ของราษฎร เพื่อพระราชทานกลับไปให้ช้างป่ากิน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสความว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” คือ ปล่อยให้ต้นไม้ยืนต้นขึ้นเองโดยธรรมชาติ โดยไม่มีการรบกวนจากคน จนเป็นอาหารของช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น และยังมีพระบรมราชกระแสรับสั่งให้ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยเมล็ดพันธุ์พืชในบริเวณที่จะเป็นป่าธรรมชาติในอนาคตด้วย” นสพ.อลงกรณ์ เล่าเหตุการณ์ในช่วงที่ถวายงานสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 จากแนวพระราชดำริ ราษฎรในเวลานั้นร่วมใจถวายคืนที่ดินสำหรับปลูกสับปะรดให้กับทางราชการ นอกจากนี้ ทางโครงการยังจัดการอบรมให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่ากุยบุรีได้เห็นคุณค่าระหว่างช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และพิทักษ์รักษาสัตว์ป่าจากการถูกล่าด้วย

“จากเดิม เราสำรวจและพบช้างป่าราว 33 ตัวเท่านั้น แต่ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ได้ดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ จำนวนช้างป่ากุยบุรีเพิ่มขึ้นเกิน 200 ตัว”

ทำให้การทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างคนกับช้างลดลง ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ จากรายได้ประจำที่มาจากการท่องเที่ยวธรรมชาติ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น

 “ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ค่อนข้างขี้ร้อน ต้องอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้หรือใกล้แหล่งนํ้า เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย การทำแหล่งนํ้าไม่จำเป็นต้องเป็นบ่อนํ้าขนาดใหญ่ วิธีที่ดีที่สุดคือขุดบ่อดินเล็ก ๆ กระจายไปทั่วทั้งป่าเพื่อให้สัตว์ป่าทั้งหลายมาดื่มกินนํ้าจากแหล่งนํ้าเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย

ส่วนแหล่งอาหาร นสพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ช้างชอบกินไผ่ ไม้ยืนต้นและเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ ดังนั้น ควรปลูกพืชเหล่านี้กระจายให้ทั่วป่าก็จะเป็นแหล่งอาหารที่สามารถอยู่กับป่าไปได้ค่อนข้างนาน หากมีชนิดที่หลากหลายและจำนวนมาก ช้างก็สามารถใช้เป็นอาหารเพียงพอได้ตลอดทั้งปี ให้ช้างป่าและสัตว์ป่าซึ่งไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ ใช้ทุนหรือพลังมากดังนั้นแค่ทำสิ่งเล็ก ๆ แต่ให้กระจายไปทั่วทั้งป่าก็ช่วยได้มาก หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลช้างป่า อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรมีการประเมินจำนวนช้างป่าในแต่ละพื้นที่ว่ามีกี่ตัว หากพื้นที่ใดมีจำนวนช้างมากเกินไป ก็ควรจัดสรรให้ปริมาณช้างอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและสมดุล สำหรับช้างที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและอาจเป็นอันตราย เจ้าหน้าที่ควรดูแลและผลักดัน หรือย้ายช้างป่า
ให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้คน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยมีเกณฑ์อัตรา
ค่าชดเชยที่เหมาะสม

ส่วนสถานการณ์ช้างบ้านในประเทศไทยขณะนี้ดำรงชีพอยู่ด้วยการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในอดีตประเทศไทยเคยสูญเสียช้างบ้านจากโรคระบาดอันตรายมากคือโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลันในช้าง (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus-EEHV) ซึ่งทำให้ช้างที่ติดเชื้อ เส้นเลือดฝอยแตกทั้งตัว อุจจาระเป็นเลือดและตาย ภายใน 48 ชั่วโมง ทำให้อัตราการเสียชีวิต 10% ต่อปี กว่าจะหายาและการหยุดโรคระบาดได้ใช้เวลา 5-6 ปี จนมาถึงปัจจุบันสถิติช้างบ้านป่วยเป็นโรคระบาดในปี 2564 มีแค่ 2 เชือกเท่านั้น

มีเป้าหมายมากกว่านั้นเราหวังให้อัตราการเสียชีวิตของช้างบ้านจากโรคระบาดเป็น 0% ในอนาคต นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ กล่าวและว่า ถ้าช้างอยู่ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีอาหารการกินพร้อม ช้างเพศเมียจะสามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ถึง 3-5 เชือก ในช่วงอายุขัยเฉลี่ยของช้าง 60-70 ปี

ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมาทีมสัตวแพทย์ช่วยกันลดอัตราการเสียชีวิตของช้าง และเพิ่มอัตราการเกิด รวมถึงขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยง (บ้าน) โดยในปัจจุบัน มีช้างบ้านขึ้นทะเบียนและติดไมโครชิพแล้วประมาณ 4,500 เชือก

เมื่อกล่าวถึงการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของช้าง จะมีใครดูแลช้างได้ดีเท่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดช้างที่สุดสิ่งสำคัญที่ นสพ.อลงกรณ์
ทำมาตลอดคือ สร้าง “ควาญช้าง” ให้เป็นเสมือนผู้ช่วยสัตวแพทย์ ช้างควรได้รับการดูแลแบบ 1:1 คือ ช้าง 1 เชือก ต่อควาญ 1 คน และไม่ควรเปลี่ยนควาญ แต่ในปัจจุบันควาญหนึ่งคนอาจจะต้องดูแลช้างถึง 6-7 เชือก เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องช้างโดยตรงซึ่งการเปลี่ยนควาญช้างหรือให้ควาญเลี้ยงช้างจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายกับควาญได้ โดยเฉพาะเมื่อช้างเพศผู้ตกมัน

“ช้างมีประสาทสัมผัสรับกลิ่นทางงวงที่ไวมาก ถ้าควาญช้างมีกลิ่นกายที่ผิดแปลกไปแม้เพียงเล็กน้อย ช้างจะประเมินเลยว่าควาญมีคุณสมบัติพอที่จะทำให้เขาเชื่อใจได้ไหม จะต่อสู้กับเขาได้ไหม ช้างจะทดลองสลัดควาญตกลงมา ถ้าควาญไม่ระวังหรือประคองสติไม่อยู่ แล้วพลัดตกลงมา ก็อาจโดนขาหน้ากระทืบ งวงฟาด หรือถ้าเป็นช้างพลาย ก็อาจจะใช้งาแทง ซึ่งโดยมากแล้ว ควาญจะเสียชีวิต”

ตั้งแต่ปี 2525-2550 นสพ.อลงกรณ์ รณรงค์และให้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับควาญเพื่อเปลี่ยนความคิด(mindset) และปรับพฤติกรรม อย่างการเลิกดื่มเหล้า ปัจจุบันมีควาญช้างเพียง 5% เท่านั้นที่ยังคงดื่มอยู่ จากเดิม ควาญมีภาวะติดเหล้าถึง 80%

หากช้างป่าและช้างบ้านของไทยมีจำนวนลดลงหรือมีภาวะเสี่ยงเข้าใกล้สูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งหมด รวมถึงมนุษย์ ซึ่งอยู่ปลายห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุด จึงต้องรักษาสมดุลประชากรช้างให้เหมาะสม.

พรประไพ เสือเขียว