ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่านศุลกากรอรัญประเทศ จับกุมทุเรียนลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมามีข่าวว่าเจ้าของทุเรียนแจ้งว่า ทุเรียนที่ถูกจับไม่ใช่ทุเรียนลักลอบนำเข้า แต่เป็นทุเรียนที่มาจาก จ.ศรีสะเกษ นั้น

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่า จะมีการนำทุเรียนลักลอบนำเข้าจากแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจค้นจับกุม โดยสายลับจะเป็นผู้นำชี้ให้ทำการตรวจค้นด้วยตนเอง จนกระทั่งเวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่า รถบรรทุกที่ขนทุเรียนลักลอบได้ออกจากพื้นที่แนวชายแดนแล้ว มุ่งหน้าไปทางถนนหมายเลข 317 เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่บริเวณที่สายลับแจ้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 09.45 น. ได้พบรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน 68-2537 กรุงเทพมหานคร มีผ้าใบคลุมทับ ตามที่ได้รับแจ้งที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เจ้าหน้าที่จึงให้สัญญาณหยุดรถเพื่อขอทำการตรวจค้น และได้พบคนขับรถ เจ้าหน้าที่ได้แสดงตนพร้อมแจ้งเหตุแห่งความสงสัยให้ทราบ

ผลการตรวจค้นพบทุเรียนสดบรรจุอยู่ภายในกระบะบรรทุก เจ้าหน้าที่ได้สอบถามคนขับรถถึงที่มาซึ่งของที่ตรวจพบ และได้รับคำชี้แจงว่าตนเป็นคนขับรถรับจ้าง โดยได้รับการว่าจ้างให้นำรถบรรทุกมารับทุเรียน น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม ที่บริเวณหลังวัดเขาน้อย ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าว มีชาวกัมพูชาเป็นผู้ขนถ่ายทุเรียนขึ้นรถให้ ซึ่งผู้ว่าจ้างได้สั่งให้นำทุเรียนไปส่งที่ล้งใน จ.จันทบุรี โดยได้รับจ้าง 6,000 บาท โดยไม่มีเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนจะติดต่อผู้ว่าจ้างให้มาพบเจ้าหน้าที่ต่อไป เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้คนขับรถทราบ และนำของกลางพร้อมคนขับรถ และรถบรรทุกคันดังกล่าวส่งด่านฯ อรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ในวันเดียวกันเจ้าของสินค้าได้มาพบเจ้าหน้าที่ โดยแสดงตนเป็นเจ้าของทุเรียนที่ตรวจพบ และได้ให้การรับสารภาพว่า ตนได้รับซื้อทุเรียนมาจากชาวกัมพูชาโดยทราบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยเจ้าของสินค้าให้การรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเจ้าของสินค้าส่งงานคดี ด่านศุลกากรอรัญประเทศเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ส่วนประเด็นเรื่องทุเรียนรับซื้อมาจากจังหวัดศรีสะเกษ กรมศุลกากรได้ตรวจสอบจีพีเอส เส้นทางของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว พบว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 รถยนต์คันดังกล่าวมิได้มีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่ได้มีการใช้รถอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเท่านั้น

สำหรับในกรณีทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เข้าจับกุมโดยสุภาพ มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด และเจ้าของสินค้าก็มาแสดงตนยอมรับด้วยตนเอง และได้มีการบันทึกคำให้การโดยสมัครใจตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ ซึ่งภายหลังจากที่เป็นข่าว ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของทุเรียนได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.คลองลึก โดยมิได้โต้แย้งการจับกุม หรือการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางเท่านั้น


“เพื่อความบริสุทธิ์ใจในกรณีนี้ กรมศุลฯ จะไม่มีการระงับคดีภายในกรมฯ แต่จะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนแทน โดยให้ดำเนินคดีถึงที่สุดเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี ปรับสี่เท่าของของกลาง หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ส่วนแนวทางการขายปันส่วนกรมได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบทุกขั้นตอน ซึ่งได้มีการติดต่อประสานงานไปยังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อตรวจสอบหาโรคในพืชก่อน และจากนั้นก็มีการปันส่วนให้หน่วยงานภายในรวมถึงหน่วยงานข้าราชการเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการนำไปขายทอดตลาด โดยสาเหตุที่ต้องมีการรีบขายปั่นส่วน เพราะเรื่องนี้มีการรับสารภาพแล้ว และทุเรียนเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย จะต้องรีบขายปันส่วน หากไม่ทำจนเน่าเสีย อาจมีความผิดทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

กรมศุลกากรยังคงดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภายในประเทศ และเป็นการป้องกันการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการที่สุจริต ต่อไป