เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษณ์ คงเมือง ผวจ.เพชรบูรณ์ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ถึงหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเชิญร่วมถวายน้ำหลวงสรงศพ พระพรหมวชิราลังการ (ชลอ กิตฺติสาโร) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 4, 5, 6, 7 (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดเพชรวราราม (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 94 ปี 74 พรรษา เมื่อเวลา 20.38 น. วันที่ 29 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เวลา 20.38 ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พระพรหมวชิราลังการ (ชลอ กิตุติสาโร) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 4, 5, 6, 7 (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดเพชรวราราม (พระอารามหลวง) เพื่อให้การประกอบพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขอเชิญร่วมพิธีถวายน้ำหลวงสรงศพฯ ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2566 เวลา 16.30 น. ณ วัดเพชรวรารามพระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

สำหรับประวัติพระพรหมวชิราลังการ เดิมชื่อ ชลอ เขื่อนเจริญ เป็นชาว จ.ลพบุรี เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 27 ม.ค. พ.ศ. 2472 ที่บ้านหนองหลวง หมู่ 10 ต.บางลี่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โยมบิดาชื่อ แป๊ะ มารดาชื่อ เพียร บรรพชา เมื่ออายุได้ 13 ปี พ.ศ. 2485 ณ วัดบางลี่ ต.บางลี่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โดยมี พระครูสุขวุฒาจารย์ (สุขสโร สุข) เจ้าอาวาสวัดบางลี่ และเจ้าคณะตำบลบางลี่ เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2492 ณ พัทธสีมาวัดบรมนิวาส เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสมหาเถระ อ้วน แสนทวีสุข) วัดบรมนิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมดิลก (จันทูปมเถระ ทองดำ เหลียวพาณิช) วัดบรมนิวาส แต่ครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระอมราภิรักขิต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศีลวรคุณ (สังกิจจเถระ) วัดสิริจันทรนิมิตร แต่ครั้งมีสมณศักดิ์เป็น พระครูปรัตยานุกูล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ยังคงพำนักเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และปฏิบัติกิจพระศาสนาอยู่ที่วัดบรมนิวาสต่อไป รวมเวลาที่พำนักอยู่ ณ วัดบรมนิวาส ทั้งเป็นสามเณรและภิกษุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ถึง พ.ศ. 2515 เป็นเวลา 25 ปี และได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเพชรวราราม (พระอารามหลวง) จ.เพชรบูรณ์ และเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อ 18 ธ.ค. 2515

สมณศักดิ์ พ.ศ. 2508 เป็นพระครูสังวรคุณ พระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท พ.ศ. 2513 เป็นพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก พ.ศ. 2516 เป็นพระกิตติสารโสภณ พระราชาคณะชั้นสามัญ พ.ศ. 2534 เป็นพระราชพิศาลสุธี พระราชาคณะชั้นราช พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพรัตนดิลก เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธ.ค. พ.ศ. 2539

ต่อมาในปี 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราลังการ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ล่าสุดวันที่ 14 พ.ย. พ.ศ. 2565 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิราลังการ ปูชนียฐานประยุต วิสุทธิภาวนาโกศล วิมลสีลสมาจารมุนี ตรีปิฎกคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ถือเป็นพระราชาคณะชั้นพรหม รูปแรกของเมืองเพชรบูรณ์

ด้านวัตรปฏิบัติพระพรหมวชิราลังการ หลวงพ่อวัดเพชรฯ หรือหลวงพ่อใหญ่ นับเป็นพระนักพัฒนาด้านถาวรวัตถุคู่ขนานไปกับการพัฒนาบริเวณวัดเป็นสถานที่รมณีย์รายล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้ร่มรื่นนานาพันธุ์ นอกจากนี้ หลวงพ่อยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัย พูดจาไพเราะ ใครที่ได้สนทนากับท่านจะเป็นที่จดจำเป็นอย่างยิ่ง และใช้ชีวิตในเพศบรรพชิตอย่างเรียบง่าย คนทุกชนชั้นเข้าถึงหลวงพ่อได้หมด ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือจากชาวเพชรบูรณ์ มีลูกศิษย์ทั่วประเทศ โดยช่วงก่อนหน้านี้แม้หลวงพ่อจะชราภาพและมีสมณศักดิ์สูง ก็ยังออกเดินบิณฑบาตตามกิจวินัยสงฆ์อยู่เป็นนิจ จนเป็นที่คุ้นตาและเป็นที่ปลาบปลื้มที่ได้ใส่บาตรทำบุญกับท่านของชาวเพชรบูรณ์ การมรณภาพของหลวงพ่อ จึงนับเป็นการสูญเสียพระชั้นผู้ใหญ่ปฏิบัติดีปฏิชอบอีกรูปหนึ่งของเมืองมะขามหวาน.