เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีฉ้อโกงประชาชนหมายเลขดำ อ.1837/2564 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท วีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลยที่ 1, น.ส.อมราภรณ์ หรือ พ.หญิง พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข จำเลยที่ 2, บริษัท เหนือโลก จำกัด โดย นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการ ในฐานะนิติบุคคล จำเลยที่ 3, นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อดีตประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน นักธุรกิจพันล้าน จำเลยที่ 4, นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ จำเลยที่ 5, น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม จำเลยที่ 6, บริษัท เอ็มโกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด โดย นางสาวสิริมา เนาวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 7, น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ จำเลยที่ 8 และ นายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ จำเลยที่ 9 ในความผิดฐานความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11, 12, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 และให้พวกจำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 19 เม.ย. 2564 พวกจำเลยได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันด้วยการหลอกลวงและแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการโฆษณาชักชวนประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขาย ฝากขายสินค้าแบรนด์เนม เช่น หลุยส์ วิตตอง ชาแนล แอร์เมส กุชชี่ และสินค้าทำความสะอาดสินค้าแบรนด์เนม เป็นต้น ในหลายรูปแบบ คิดโดยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 40.15-51.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี จนมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อร่วมลงทุนกับพวกจำเลยตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่พวกจำเลยตั้งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วพวกจำเลยไม่มีเจตนานำเงินจากประชาชน และผู้เสียหายไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงอุบายเพื่อนำเงินลงทุนมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกจำเลยเท่านั้น สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลกว่า 1,000 ล้านบาท ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำกลางบางขวาง จ.นนทบุรี เพื่อให้ นายประสิทธิ์ จำเลยที่ 4 รับฟัง โดยศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องรู้เห็นด้วยตัวเอง สมเหตุสมผล มีรายละเอียดเชื่อมต่อเป็นลำดับเรื่องราวความเป็นมาของการกระทำความผิดตั้งแต่เปิดธุกิจของ จำเลยที่ 1, 3, 4 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่ จำเลยที่ 1, 3, 4 ต่อสู้คดีอ้างว่ามีแผนการธุรกิจและคำนวณตามโมเดลธุรกิจดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนสูงนั้น เป็นเพียงแนวคิดเบิกความลอย ๆ ที่โฆษณาหลอกลวงว่าประชาชนผู้เสียหาย ไม่สามารถกระทำได้จริง พยานและหลักฐานของ จำเลยที่ 1, 3, 4 ยังมีข้อพิรุธ น่าสงสัยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ,5-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ยังไม่มีหน้ำหนักให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2, 5-9 จึงพิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3, 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 342 พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกฎหลายบทต่างกัน ให้ลงโทษ ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นหนักสุด ให้จำคุก นายประสิทธิ์ จำเลยที่ 4 รวมทุกกระทง 1,155 ปี และปรับจำเลยที่ 1, 3 และ 4 เป็นเงิน 145,500,000 บาท ต่อราย อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกนายประสิทธ์ จำเลยที่ 4 ไว้รวม 20 ปี และให้ จำเลย 1, 3 และ 4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายอัตราร้อยละ 5 ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2, 5-9 พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในวันนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ทำความเห็นแย้งเห็นว่า จำเลยทั้ง 9 ราย มีส่วนร่วมรู้เห็นการกระทำผิดด้วย ทั้งนี้การทำความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญานั้น จะอยู่ในสำนวนคดี และหากอัยการยื่นอุทธรณ์ความเห็นแย้งดังกล่าว ก็จะอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ด้วย.