ร็อบ แมคคัลลัม ผู้ให้คำปรึกษาด้านการสำรวจและผจญภัย ซึ่งเคยเป็นผู้ให้คำแนะนำด้านการตลาดและโลจิสติกส์แก่บริษัทโอเชียนเกต ผู้เป็นเจ้าของเรือดำน้ำไททันที่ประสบเหตุน่าสลดใจใต้ทะเลลึก ให้สัมภาษณ์นักข่าวจาก เดอ นิวยอร์เกอร์ ว่า เขาได้รับรายงานเกี่ยวกับการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรือดำน้ำไททัน หลังจากเกิดเหตุไม่นานนัก

แมคคัลลัม เล่าว่า รายงานที่เขาได้มานั้นระบุว่า เรือดำน้ำไททันกำลังอยู่ที่ระดับความลึก 3,500 เมตร จากนั้นก็เริ่มปลดตัวถ่วงน้ำหนักออก เพื่อหาทางขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งหมายความว่ากำลังยกเลิกการเดินทางครั้งนี้ จากนั้นก็ขาดการติดต่อกับเรือแม่ไปในเช้าวันที่ 18 มิ.ย. 2566

แมคคัลลัม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสำรววจและผลจญภัย EYOS Expeditions เขาเคยนำทีมลงดำน้ำไปชมซากเรือไททานิกและจุดดำน้ำใต้ทะเลลึกอื่น ๆ แต่เขาใช้เรือดำน้ำที่ออกแบบมาเพื่อลงไปได้ถึงความลึก 19,000 ฟุต (5,791 เมตร) และได้รับการรับรองจากหน่วยงานว่า สามารถดำน้ำลึกได้จริง

แมคคัลลัม ยังคงติดต่อกับ สต็อกตัน รัช ซีอีโอของโอเชียนเกตอยู่เสมอ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตพร้อมกับการดำน้ำเที่ยวสุดท้ายของเรือไททัน และยังเคยไปเยี่ยมชมเวิร์กช็อปของโอเชียนเกต ขณะนี้เขานับเป็นบุคคลที่ 2 ที่ออกมาพูดต่อสาธารณชนว่า เป็นไปได้ว่าเรือดำน้ำไททัน พยายามจะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ก่อนที่มันจะระเบิด

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ดังเรื่อง Titanic ให้สัมภาษณ์ว่า เขา “ได้ข่าวจากวงใน” ว่าเรือดำน้ำไททันได้ปลดตัวถ่วงน้ำหนักทิ้ง ระหว่างที่คนในเรือ “พยายามรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน”

เรือดำน้ำไททันขาดการติดต่อกับเรือแม่ หลังจากดำลงไปชมซากเรือไททานิก ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ระดับความลึก 3,800 เมตร เพียงไม่ถึง 2 ชม. ทั้งเรือมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 5 คน 

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นคือเรือไททันเกิดการระเบิดแบบยุบตัวเข้าสู่ภายใน ผู้ที่อยู่ในเรือทั้งหมดเสียชีวิตในทันทีด้วยแรงดันของน้ำอันมหาศาล ทีมงานที่สืบสวนเหตุการณ์อย่างเป็นทางการ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า คนทั้งห้าในเรือนั้น รู้ตัวหรือไม่ว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในอันตราย หรือได้รับสัญญาณเตือนใด ๆ ก่อนหน้านั้นหรือไม่

แต่ทั้ง แมคคัลลัม และ คาเมรอน เชื่อว่ามีคนในเรืออย่างน้อย 1 คน ที่พบว่าเรือมีปัญหา และเลือกที่จะยกเลิกการเดินทาง 

ซีอีโอของโอเชียนเกตเป็นคนขับเรือในเที่ยวนั้น และน่าจะเป็นคนรับผิดชอบดูแลการเดินทางทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ โอเชียนเกตเคยยกเลิกการดำลงใต้ทะเลมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากมีปัญหากับระบบการขับเคลื่อนและลากจูง, แบตเตอรี่ รวมถึงมักจะลอยห่างออกจากเรือแม่ ความจริงแล้ว จำนวนครั้งของการยกเลิกการดำน้ำของเรือไททัน มีมากกว่าเที่ยวที่ทำได้สำเร็จ

แหล่งข่าว : insider.com

เครดิตภาพ : AFP