นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 32/2566 (ครั้งที่ 860) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟที่ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 7-21 ก.ค. 2566 ผ่านเว็บไซต์ กกพ. ก่อนสรุปเป็นทางการ และประกาศใช้จริงปลายเดือน ก.ค. นี้ในกรณีต่างๆ ดังนี้

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จำนวน 249.81 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-เม.ย. 2566 คิดเป็นเงินจำนวน 135,297 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

กรณีที่ 2 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จำนวน 91.19 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-เม.ย. 2566 จำนวน 38,291 ล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-เม.ย. 2566 โดยแบ่งเป็น 5 งวด งวดละ 23,428 ล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 มีภาระหนี้คงเหลือ ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับลดลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ. นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ การประมาณการค่าเอฟที่ในรอบคำนวณเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค.-ส.ค. 2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566