สุดท้าย…ไปไม่ถึงดวงดาวเพราะได้คะแนนเสียงโหวตเพียงแค่ 324 เสียงเท่านั้น ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมดที่กำหนดไว้ว่าต้องได้รับคะแนนเสียงทั้งจากสภาสูงและสภาล่างรวมแล้ว 376 เสียง

รับผลโหวตแต่ไม่ยอมแพ้

แม้ตัวนายพิธาออกมายอมรับผลโหวตที่เกิดขึ้นแต่ก็ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ยอมแพ้กับการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้แน่นอน และขอใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปปรับกลยุทธ์เพื่อรวบรวมคะแนนเสียงให้ได้ตามกฎตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อนถึงวันโหวตรอบที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ แม้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคยังยึดมั่นเหนียวแน่นในข้อตกลงเดิมไม่แตกแถวลงคะแนนเสียงให้ครบทั้งหมด 311 เสียง และได้รับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. อีก 13 เสียง

ไม่เพียงเท่านี้นายพิธายังคงเป้าหมายหลักในเรื่องของการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นสัญญาประชาชนที่คงไม่ล้มเลิก ไม่เปลี่ยนแปลงเพราะได้หาเสียงจากเรื่องนี้ไว้จึงได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้นกว่า 14 ล้านเสียง แม้มีสัดส่วนเพียงแค่ 20% ของประชาชนคนทั้งประเทศก็ตาม ในเมื่อนโยบายหลักที่หาเสียงไว้ก็ต้องปฏิบัติตามจะมาเปลี่ยนแปลงจะมายกเลิกเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก็คงไม่ใช่เรื่อง!!

จับตาปรับกลยุทธ์ตั้งรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้…ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า กลยุทธ์ยุทธวิธีที่ปรับนั้นเดินไปในทิศทางใดจะเพิ่มจำนวนพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพิ่มขึ้นโดยดึงพรรคการเมืองที่ทอดไมตรีไว้อย่างน้อยอีก 2 พรรคการเมืองที่รวมกันแล้วก็มีเสียงเพิ่มขึ้นอีก 35 เสียงแล้วไปเดินหน้าขอเสียงจาก ส.ว. ที่ขาดหายไปจากวันโหวตเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา อีก 44 เสียง หรือมีวิธีการอื่นใดคงต้องรอจับตาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว…ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 19 ก.ค.นี้จะออกมาในรูปแบบใด

หรือ…ทั้งหมดต้องพลิกเกมกลายมาเป็นฝ่ายค้านอย่างที่หลายต่อหลายคนวิเคราะห์กันเอาไว้ แต่อย่าลืมว่าการมุ่งมั่นมุ่งหน้าเอาผล “ชนะ” โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนคนทั้งประเทศเป็นหลักใหญ่ สุดท้ายประชาชนคนไทย
นั่นแหละที่ต้องรับกรรม!! เพราะเวลานี้เศรษฐกิจของประเทศยังลูกผีลูกคน!! แม้ธนาคารโลกออกมาปรับเป้าหมายการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตถึง 3.9% ก็ตาม แต่หากการบริหารประเทศเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ความฝัน ความหวัง คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

เอกชนเมินใครเป็นนายกฯ

ณ เวลานี้บรรดาภาคเอกชนต่างส่งเสียงสะท้อนออกมาให้เห็นเด่นชัดกันแทบทุกวันว่า ไม่สนว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพราะสามารถร่วมงานกับทุกคนได้อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว นั่นหมายความว่า…สิ่งสำคัญคือเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลเพราะทุกวินาที ทุกนาที ในเวลานี้ต้องการให้มีฝ่ายนโยบายเข้ามาขับเคลื่อนถ้ายิ่งปล่อยไว้นานก็มีแต่การสูญเสียเสียโอกาสเพราะต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนที่กำลังจะย้ายฐานการลงทุนต่างต้องการเห็นนโยบายของการขับเคลื่อนประเทศ

หากการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งช้าก็เท่ากับว่าทำให้โอกาสการดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ยิ่งริบหรี่ไม่เพียงเท่านี้เหลืออีกไม่กี่เดือนประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่ช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว หากสถานการณ์การเมืองเกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์จนนำไปสู่ความรุนแรงจากแนวความคิดที่แตกต่างกันก็ยิ่งซ้ำเติมประเทศ เพราะเชื่อได้ว่าคงไม่มีนักท่องเที่ยวชาติไหนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ที่บรรยากาศคุกรุ่น

เตือนสติไทยบอบช้ำมาก

อย่าลืมว่า…ประเทศไทย เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญภาวะวิกฤติต้องบอบช้ำมามากมาย หากยังต้องเผชิญกับความบอบช้ำต่อไปอีกแล้วจะเหลืออะไร? หากบรรยากาศของประเทศไม่ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวก็เท่ากับว่าเครื่อง ยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะดับตามเครื่องยนต์ จากการส่งออกที่กำลังริบหรี่ จากผลของเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยจนมีการคาดการณ์กันว่าการส่งออกของไทยในปีนี้อาจไม่ขยายตัวไปจนถึงหดตัวอย่างน้อย 1-2% ด้วยซ้ำไป

ไม่เพียงเท่านี้!! ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อกระตุกกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มแผ่วลงให้กระเตื้องเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่ต้องผลักดันเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายให้เกิดการลงทุน ถ้ายิ่งช้ามากไปกว่า 6 เดือนก็ยิ่งกระทบเศรษฐกิจเข้าไปอีกเพราะเงินลงทุนของประเทศจะหายไปอย่างน้อยก็ราว ๆ 1.4 แสนล้านบาท ด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชนก็ยังตึงตัวไม่มีการลงทุนเพิ่มเพราะต้องยอมรับว่าอะไรที่ไม่ชัดเจนการลงทุนเพิ่มเติมก็ต้องชะลอไว้ก่อน

หนี้ครัวเรือน 16 ล้าน ล.

ด้านประชาชนเองทุกวันนี้ก็เต็มไปด้วยหนี้แถมแบงก์ชาติได้นำหนี้อื่น ๆ มาเพิ่มเติมมารวมมัดไว้อีกก็ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนนั้นทะยานเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านบาท ทะลุเกิน 90% ของจีดีพีเข้าไปอีก จากที่สัดส่วนก่อนหน้านี้ได้ปรับลดลงมาในระดับ 80% เศษ จะด้วยความชัดเจน ด้วยความรอบคอบทำให้การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นอยู่บนความจริงเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นการขยายความครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่ม 4 กลุ่มซึ่งเป็นหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การก่อหนี้ใหม่โดยเป็นการปรับข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาสแรกของปี 55 ซึ่งมีทั้งหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.85 แสนล้านบาท หนี้สหกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.65 แสนล้านบาท หนี้พิโกไฟแนนซ์ 6,000 ล้านบาท และหนี้การเคหะแห่งชาติหรือ กคช. อีก 11,000 ล้านบาท

ทั้งนี้แบงก์ชาติประเมินว่า ในระยะต่อไปหนี้เสียอาจทยอยปรับขึ้นบ้างจากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อยหรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัวแต่ยังไม่เห็นหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดและเป็นระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้วแต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้

ต้องเผชิญหลายโจทย์

       ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยมุมมองทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้โดยยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 66 ยังสามารถเติบโตได้ที่ 3.7% ขณะที่เรื่องของการส่งออกยังคงติดลบในอัตรา 1.2% แต่ในครึ่งปีหลังนี้ไทยมีโจทย์ใหญ่หลายโจทย์ที่ต้องเผชิญทั้งเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล การรับมือกับทิศทางของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และยังเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของโลกฝั่งตะวันออกที่กำลังอ่อนแรงที่ทำให้เห็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจอาเซียนและไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูงและยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อนหรือแม้แต่เรื่องของภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญที่เชื่อกันว่าน่าจะรุนแรงกว่าที่คาด จนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาทเข้าให้อีก

ขณะที่กระทรวงการคลังเองก็ออกมาประเมินในเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนี้เสี่ยงต่อการหดตัวเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เพราะมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากทั้งการส่งออกที่หดตัวรวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่ช้ากว่าที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่น่ากังวลที่สุดเพราะไม่มีงบลงทุนใหม่ลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จีดีพีทั้งปีอาจเติบโตได้ในระดับ 3.8% แต่เป็นการเติบโตจากฐานปีที่แล้วที่ต่ำทั้งหมดจึงฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างน้อยตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 28-30 ล้านคน

สารพัดสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน จากนี้ต่างรอความหวังให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารจัดการซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่หากผู้ที่กำลังจะเข้ามาใหม่ต่างสาละวนอยู่กับการ “เอาชนะ” เชื่อเถอะมีแต่เจ๊งกับเจ๊งและคนที่เจ็บที่สุดก็คือคนไทยทั้งประเทศนั่นแหละ!!

สารพัดรอรัฐบาลใหม่สาง

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ บอกว่า ปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนแต่จะสามารถผ่านพ้นไปได้ และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่สามารถพอไปได้ ฉะนั้น ภาระของรัฐบาลใหม่จึงไม่ลำบากมากนัก เพราะเศรษฐกิจจะประคองตัวเองได้ระดับหนึ่งในระยะ 6 เดือน ตอนนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่การลุ้นโหวตนายกรัฐมนตรี และคงต้องใช้เวลาถึงปลายเดือน ก.ค.นี้ในการหารัฐบาล และเดือน ส.ค. จะได้รัฐบาลชุดใหม่ หลังจากนั้นปัญหาคือปัญหาระยะยาว คือตกลงแล้วรัฐบาลจะทำอนาคตให้เกิดขึ้นกับประเทศได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะนโยบายเทคโนโลยี เชิงอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ไม่ถูกพูดถึง เพราะเทคโนโลยีของไทยกำลังหมดบุญเก่า ซึ่งจะมีระยะต่อหุ้นและศักยภาพของประเทศ

“เงินที่ไหลมาในภูมิภาคแต่ไทยเงินไหลมาเป็นอันดับ 4 ซึ่งหากเงินเหล่านี้ไหลเข้าไปในเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในอีก 5 ปีให้หลังไทยจะแพ้ประเทศเหล่านี้ จึงอาจต้องนำโครงการเดิมมาปัดฝุ่น เช่น อีอีซี ทำท่าเรือฝั่งตะวันตกต่อเชื่อมไปอินเดียเพื่อให้ต่อไปกลายเป็นอนาคต และต้องทำให้ ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แก้ไขเรื่องคนเข้าเมืองรวมทั้งสตาร์ทอัพที่เข้ามาลงทุนในไทย สุดท้ายปัญหาจีนกับสหรัฐเริ่มเกิดปัญหารุนแรงมากขึ้น ไทยจะต้องทำอย่างไรที่จะอยู่ในโลกของความขัดแย้งได้ ซึ่งหวังว่ารัฐบาลใหม่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ให้เหมาะสม”

ขอมาตรการปลุกกำลังซื้อ

“ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่า  เวลานี้ภาคเอกชนต้องการให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นได้เร็วและราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อ และจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นไปแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ไม่ซับซ้อน โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มฐานรากและเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งลดขั้นตอนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก และส่งเสริมภาคท่องเที่ยวในประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติและคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย เช่น การขยายเวลาวีซ่าขาเข้าให้ต่างชาติพำนักในไทยได้นานขึ้น การเพิ่มความถี่เที่ยวบินมาไทย และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น

“ต้องยอมรับว่า ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกยังไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากภาคธุรกิจยังเผชิญกับต้นทุนสูงจากทั้งค่าพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และอื่น ๆ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ สมาคมฯ จึงขอส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ชุดใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาบริหารประเทศออก นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะมาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาคึกคัก โดยสมาคมฯ มีความพร้อมและมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างมีเอกภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเข้มแข็ง”.

ทีมเศรษฐกิจ