เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง นิด้า และแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีขั้นตอนการพิจารณาคดี พิธาถือหุ้นสื่อ ของศาลรัฐธรรมนูญจากวาระการประชุม ความว่า กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เนื่องจากถูกร้องว่าเป็นผู้ถือหุ้นในสื่อมวลชนได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 และระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริหารจัดการคดี พ.ศ. 2563 และแนวทางการปฏิบัติงานด้านคดี

ในปัจจุบันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จำนวน 2 คณะ คือ คณะตุลาการ คณะที่ 1 และคณะตุลาการ คณะที่ 2 โดยแต่ละคณะจะประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คน

เมื่อมีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลจะส่งเรื่องให้คณะตุลาการคณะใดคณะหนึ่ง คือ คณะที่ 1 หรือ คณะที่ 2 เป็นผู้พิจารณาภายใน 2 วันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้องตามข้อกำหนดศาลฯ โดยให้ถือว่าวันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลรับเข้าสารบบคดีเป็นวันที่ได้รับคำร้อง

คณะตุลาการที่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย มีระยะเวลา 5 วัน ในการตรวจและพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 49 ซึ่งเมื่อนับจากวันที่คณะตุลาการได้รับเรื่องจากหน่วยงานธุรการจนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นกำหนดวันประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกินระยะเวลา 5 วัน แล้ว เป็นเหตุให้ต้องมีการขยายระยะเวลาการพิจารณาของคณะตุลาการออกไป ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 31

ดังจะเห็นได้จากระเบียบวาระการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ระเบียบวาระที่ 4 ที่มีหมายเหตุแรก ว่า พิจารณาขยายระยะเวลาการเสนอความเห็นของคณะตุลาการคณะที่ 1 ต่อศาล (คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน) ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 31

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น คดีคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน อาจจะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แทนที่จะเป็นคณะตุลาการคณะเล็กเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น ตามระเบียบวาระที่ 4 จึงได้มีหมายเหตุที่ 2 ว่า (ศาลหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน) พิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่ ซึ่งก็หมายความว่า ศาลหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน จะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนคณะตุลาการคณะที่ 1 เป็นเพียงผู้พิจารณาและเสนอความเห็น

ซึ่งหากเป็นคดีทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่คดีที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนแล้ว คณะตุลาการคณะเล็กจะเป็นผู้ตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยด้วยตนเอง และคำสั่งดังกล่าวให้ถือว่าเป็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ