สำนักข่าวต่างประเทศชั้นนำของโลกทุกแห่ง ยังคงเกาะติดสถานการณ์การเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย สถานะความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน


ขณะที่ในวันเดียวกัน รัฐสภาของไทยยังประชุมและลงมติ วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี


ผลปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ซึ่งเป็นวันรับคำร้อง จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย


หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง รัฐสภาของไทยที่เป็นการประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก 395 เสียง ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ไม่เห็นชอบให้มีการเสนอชื่อนายพิธา เข้าสู่การพิจารณาเป็นครั้งที่สอง ในสมัยประชุมปัจจุบัน เพื่อลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี หลังได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึงเกณฑ์ เมื่อวันลงมติ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา


อนึ่ง สื่อต่างประเทศวิเคราะห์โดยให้น้ำหนักไปที่ การที่พรรคก้าวไกลยืนกรานไม่ประนีประนอมจุดยืน “การแก้ไข” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมองว่ากรณีของนายพิธา อาจทำให้เจ้าตัว และพรรคก้าวไกล เผชิญกับวิบากกรรมทางการเมืองไม่ต่างจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่


นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศจับตาไปที่ “ตัวเก็ง” ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นคนต่อไป คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ในนามพรรคเพื่อไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ.

เครดิตภาพ : AFP