เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 19 ก.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวภายกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีในที่รอบ 2 ในที่ประชุมรัฐสภา ว่า ข้อบังคับการประชุมที่ 41 การเสนอญัตติซ้ำไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 272 การทำแบบนี้เหมือนเป็นการไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการใช้เสียงข้างมากในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต อาจจะทำให้การเลือกนายกฯประสบปัญหาได้และกลายเป็นทางตันของประเทศ

นายจาตุรนต์ กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปว่าในขั้นตอนต่อไปหากสภาจะเลือกนายกกันเองในอนาคต เราอาจจะถึงจุดที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้อย่างน้อย 1 สมัยประชุม และอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เพราะตอนนั้นโดนกำหนดไว้ว่าให้สภาเลือกนายก จากคนที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง สภาฯก็ต้องทำแบบนั้น แต่คงไม่ถึงขั้นไปเสนอศาลรัฐธรรมนูญ เราคิดว่ารัฐสภาควรตัดสินใจกันเอง เพียงแต่ว่าการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และทำแบบนี้บ่อยๆ จะเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองตามมา

“ประเด็นสำคัญในวันนี้คือเสียงข้างมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ได้ลงมติกันไปในทางที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ หักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้ง ส.ส.เขารวม เสียงกันได้ 312 เสียง เพื่อจะเสนอ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดเป็นนายกฯ แต่ไปหักหน้าเขาใช้เสียงส่วนใหญ่ จึงไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการเมืองแน่ๆ และนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองในอนาคต” นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามว่า การที่นายพิธาไม่ได้รับการเสนอชื่อนายกในวันนี้จะเป็นกับดักให้กับพรรคเพื่อไทย หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จะเป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกคนใหม่ หากไม่ได้รับการเห็นชอบอีกก็จะเสนอชื่อซ้ำไม่ได้อีก และอาจจะไหลไปถึงนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ทำให้พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกครั้งหน้าจะต้องคิดหนัก อาจจะทำให้สถานการณ์บีบว่าหากคุณรวมเสียงไม่ได้จริงๆ จะไม่ได้รับการเสนอชื่อได้อีกต่อไป และจะมีการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกไปเรื่อยๆ

เมื่อถามว่าจะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนให้ความเห็นไม่ได้ ต้องให้หัวหน้าพรรคหรือแกนนำพรรคเป็นผู้ตอบคำถามนี้

เมื่อถามว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แกนนำและหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค คงมีการหารือกันและจะรวบรัดไปที่พรรคเพื่อไทยในการเสนอแคนดิเดตนายก

เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาอีกหรือไม่ นายจาตุรงค์ กล่าวว่าถ้าดูจากเสียงสว. ที่ผ่านมาคงจะไม่คำนึงถึงเสียงจากประชาชน แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะไปคาดหวังอะไรกับสว. เว้นแต่ว่าเขาจะมีดวงตาเห็นธรรมอะไรกะทันหันขึ้นมา ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานในการจัดตั้งรัฐบาลต้องนำไปคิด ยืนยันว่านี่คือความเห็นส่วนตัว ส่วนแกนนำ แกนนำของที่ทำหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 8 พรรคจะคิดเห็นอย่างไรก็คงต้องให้เขาหารือกัน

เมื่อถามว่าสถานการณ์การเมืองจะบานปลายหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จากการตีความของฝ่ายต่างๆต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้น่าจะทำให้ประชาชนผิดหวัง และจะยิ่งพัฒนาให้ประชาชนผิดหวังมากขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาของประเทศ หวังว่า หลายฝ่ายจะตั้งสติและช่วยกันคิดหาทาง ทำอย่างไรให้ไม่ฝืนมติประชาชน จะทำให้ประคับประคองการเมือง ให้ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งมีความหมายต่อไป แต่ถ้าไปทำให้ประชาชนผิดหวังมากๆ อาจจะกลายเป็นวิกฤตการเมือง การทำให้บ้านเมืองจำไม่ได้ให้ได้แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพยายามทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าให้ได้.