เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ก.ค. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map: MR-MAP)

นายปิยพงษ์ เปิดเผยว่า ทล. และบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอมซัลเต้นส์ จำกัด และบริษัท คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนตเมนท์ จำกัด (มหาชน) จัดให้มีการประชุมสรุป (ร่าง) แผนดังกล่าวฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ รวมทั้งได้สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องต่อการศึกษาโครงการฯ ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในครั้งนี้ จะนำไปประกอบการปรับปรุงแผนแม่บท MR-MAP และการศึกษาความเหมาะสมฯ เบื้องต้น ในขั้นสุดท้ายของการศึกษาต่อไป สำหรับงบประมาณในการศึกษาแผนดังกล่าวประมาณ 55 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ 1.ศึกษานำร่อง 3 เส้นทาง งบศึกษาประมาณ 15 ล้านบาท และ 2.ศึกษาเส้นทางที่เหลือเพิ่มเติมอีก 7 เส้นทาง รวมเป็น 10 เส้นทาง งบศึกษาประมาณ 40 ล้านบาท คาดว่าจะรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในเดือน ส.ค. นี้ และจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในช่วงปลายปี 66 ก่อนจะเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเห็นชอบภายปี 66

ขณะที่แผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2566-2585) โดยจะเริ่มจากแผนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ประกอบด้วย 9 โครงการ ระยะทาง 391 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าลงทุนรวม 457,000 ล้านบาท สำหรับแผนแม่บท MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 7,003 กม. มีเส้นทางพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์รวมกับระบบราง 4,321 กม. ซึ่งมีแนวเส้นทางที่สามารถนำร่องดำเนินการได้ ดังนี้

MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กม. เริ่มต้นจากด่านเชียงของ/ด่านแม่สาย จ.เชียงราย สิ้นสุดที่ จ.นราธิวาส มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 1,720 กม. คือ ช่วงเชียงราย (ด่านเชียงของ-พะเยา) และช่วงลำปาง-นราธิวาส

MR 2 กรุงเทพ/ชลบุรี -หนองคาย ระยะทาง 914 กม. มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. และเส้นทางในอนาคตอีก 718 กม. โดยมีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 313 กม. คือช่วง ชลบุรี (แหลมฉบัง)-นครราชสีมา

MR10 เส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครปริมณฑล วงแหวนรอบที่ 3 และเส้นทางเชื่อมต่อ ระยะทางรวม 642 กม. ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 วงแหวนรอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 193 กม. เปิดให้บริการแล้ว/เส้นทาง บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนที่ 2 วงแหวนรอบที่ 3 เส้นทางในอนาคต ระยะทาง 346 กม. ส่วนที่ 3 เส้นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ได้แก่ บ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 54 กม. และ บางปะอิน-สุพรรณบุรี ระยะทาง 55 กม. โดยมีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 365 กม. คือวงแหวนรอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี-ทล.6 ด้านใต้ ช่วง ทล.34-ทล.35 ด้านตะวันตก ช่วง ทล.35-นครปฐม-สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ยังมีแนวเส้นทางอื่นๆ ที่จะดำเนินการในระยะถัดไป ประกอบด้วย MR 3 บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 544 กม. มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 490 กม. ได้แก่ ช่วงบึงกาฬ-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) MR 4 ตาก-นครพนม ระยะทาง 856 กม.มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 435 กม. ได้แก่ ช่วง ด่านแม่สอด-ตาก ช่วง พิษณุโลก และช่วง ขอนแก่น-มุกดาหาร-นครพนม MR 5 นครสวรรค์-อุบลราชธานี (ด่านช่องเม็ก/สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ระยะทาง 722 กม.

MR 6 กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 390 กม. มีแนวเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ที่เหลือแผนก่อสร้างในอนาคต โดยมีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 172 กม. ได้แก่ ช่วงด่านน้ำพุร้อน-กาญจนบุรี และช่วงปราจีนบุรี-สระแก้ว

MR7 กรุงเทพ-ระยอง/ตราด ระยะทาง 467 กม. มีเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว คือ สายกรุงเทพ-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 181 กม. เส้นทางในอนาคต 286 กม. มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 193 กม. ได้แก่ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด MR 8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 91 กม. MR 9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 252 กม. มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ155 กม. คือช่วงดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และช่วงพังงา-ภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา MR-MAP คือ การบูรณาการพัฒนาระบบถนนและรางไปด้วยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน แต่เพื่อเป็นการบริหารจัดการเขตทางที่มีอยู่ให้เต็มที่ ลดการเวนคืนพื้นที่และแบ่งแยกชุมชน เกิดการพัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า แก้ปัญหาทางรถไฟในเขตเมืองที่มีความแออัด ภาพรวมคือการวางแผนพัฒนา เพื่อเตรียมพื้นที่ ส่วนระบบใดมีความพร้อมและความจำเป็นก่อน ให้ก่อสร้างก่อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และบริบทของสภาพเศรษฐกิจและสังคม