เมื่อวันที่  24 ก.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประกาศคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว.16) สังกัด สอศ. โดยประกาศรับสมัครใน 61 กลุ่มวิชา จำนวน 707 อัตรา ซึ่งผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในครั้งนี้ จะต้องดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ครูสอนศาสนาอิสลาม วิทยากร อิสลามศึกษา พนักงานจ้างเหมาบริการ ครูอัตราจ่างหรือลูกจ้างชั่วคราวในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ทั้งนี้ล่าสุด ได้มีการปิดรับสมัครไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการสอบภาค ก และ ข ในวันที่ 13 ส.ค. นี้ โดยตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ และเมื่อประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว ทาง สอศ. จะเร่งบรรจุเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างให้กับวิทยาลัยต่าง ๆ ทันที
           

เลขาธิการ กอศ. กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดที่นำรูปแบบการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาใช้ในการสอบครูผู้ช่วยในสังกัด สพฐ. เนื่องจากที่ผ่านมา การจัดสอบของ สพฐ. โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ที่กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการเอง และจ้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ออกข้อสอบและดำเนินการจัดสอบ ซึ่งมีเสียงวิพากวิจารณ์เป็นอย่างมากว่าแต่ละมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบมีมาตรฐานความยากง่ายที่แตกต่างกันมาก บางแห่งข้อสอบยากมาก บางแห่งข้อสอบง่าย ทำให้เกิดความลักลั่นในการสอบ ดังนั้นจึงเสนอให้มีการใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางสอบเหมือนกันทั่วประเทศเหมือนที่สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการนั้น ในส่วนของ สอศ. เอง เห็นด้วยกับการใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางมาใช้จัดสอบครูผู้ช่วยไม่ว่าจะในสังกัด สพฐ. หรือ สอศ. เพราะจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ หากจ้างมหาวิทยาลัยต่างคนต่างทำก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมาอีก บางแห่งออกข้อสอบยากมีผู้ผ่านการคัดเลือกแต่ 5-10% ถือว่าน้อย ก็เสียทั้งเวลาและงบประมาณในการดำเนินการโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากเราจะใช้รูปแบบที่ ก.พ. ดำเนินการนี้ จะต้องทำหลักเกณฑ์การสอบเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา หาก ก.ค.ศ. เห็นชอบ หน่วยงานทุกแท่งในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ต้องนำรูปแบบดังกล่าวนี้ ไปใช้ดำเนินการจัดสอบเหมือนกันทั้งหมด.