เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยภาพกราฟิกเส้นทางพายุลูกใหม่ โดยระบุว่า วิเคราะห์แผนที่อากาศผิวพื้น ภาพถ่ายดาวเทียม และเส้นทางเดินพายุโซนร้อน “ขนุน (KHANUN)” : ตามมาติดๆ สำหรับการก่อตัวของพายุบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศช่วงวันหยุดยาว ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ในวันที่ 28 ก.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่งในด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีนในวันที่ 28 ก.ค. 2566 นี้ หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย