เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 3 ก.ค. ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคารสำนักงานโยธา ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการดำเนินการกับแอชตัน คอนโด หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.น้อมรับคำสั่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เป็นเรื่องของกฎหมายล้วนๆ เพราะว่ามีระบุชัดเจนในกฎหมายควบคุมอาคารเลยว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ทางกทม. ทำก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น ขอย้ำว่าการดำเนินการต้องดำเนินการตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง

ขณะที่นายวิศณุ ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กทม. มีหนังสือรับทราบแบบแปลน และออกหนังสือทักท้วงไปแล้ว และดำเนินการทักท้วงมาโดยตลอด เเต่มีประเด็นที่ศาลอยู่ เนื่องจากทางบริษัทอุทรณ์ว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักการโยธา(สนย.) จึงออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารให้เเบบมีเงื่อนไข รวมถึงปัญหาทางแพ่งที่ผู้ก่อสร้างต้องพิจารณา รวมถึงการแนะนำแจ้งดัดแปลงอาคาร ที่ผู้ยื่นขอต้องรับผิดชอบ ระบุไว้ในเงื่อนไข ใบอนุญาตก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2558 และ 2560 ซึ่งตามกฎหมาย พรบ. ควบคุมอาคารพ.ศ 2522 ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการตามมาตรา 40 (3) ได้ ขณะนี้ กทม.จึงดำเนินการตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่อาคารดังกล่าวนั้นสามารถดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ซึ่งหลังจากนี้สำนักการโยธาจะต้องทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากที่ผ่านมาติดวันหยุดยาว จึงยังไม่ได้มีการดำเนินการส่งหนังสือหรือพูดคุยกับทางบริษัทเจ้าของโครงการ แต่ทั้งนี้จะเร่งให้สำนักงานโยธาทำหนังสือแจ้งไปภายในสัปดาห์นี้แล้ว หลังจากที่ได้รับหนังสือ ทางเจ้าของโครงการต้องยื่นแนวทางการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้จากคำพิพากษาศาลไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอน ไม่จำเป็นต้องทุบอาคารทิ้ง

ส่วนจะต้องมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ออกใบรับแจ้งก่อสร่าง หรือหรือไม่นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูในช่วงเวลานั้นพบว่ามีการยื่นเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ หากเจ้าหน้าที่ไม่พิจารณาออกใบให้ก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ได้ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องดำเนินการระงับการใช้อาคารหรือปิดตึกปิดทางเข้าออกหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ยังสามารถใช้ทางเข้าออกและใช้อาคารได้ตามปกติ เนื่องจากตามคำพิพากษาไม่มีคำสั่งเพิกถอนการใช้ทางเข้าออก และส่วนอาคารก็ได้มาตรฐานความปลอดภัย จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการปิดใช้อาคารดังกล่าว

สำหรับพื้นที่ที่จะใช้ในการทำทางเข้า-ออกให้กับคอนโดดังกล่าว หลังจากนี้ นายสุรัช ติ เปิดเผยว่า จะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่วัดระยะทาง ความกว้างของทางสาธารณะที่จะต้องกว่า 18 เมตร ให้แน่ชัดอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย กรณี โรงเเรม ดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี

ด้าน น.ส.กุลชลิกา รุ่งวรา อายุ 36 ปี ตัวเเทนกลุ่มลูกบ้านคอนโด เปิดเผยว่า วันนี้ตนและลูกบ้านส่วนหนึ่งได้ เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ผู้ว่าฯกทม. และแจ้งถึงความเดือดร้อนของลูกบ้าน พร้อมกล่าวทั้งน้ำตา ขอให้เร่งช่วยเหลือ ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้เรื่องคดี และปัญหาทางเข้า-ออก ของคอนโด มาก่อนเลย ทราบอีกทีตอนศาลตัดสิน ตอนนี้ไม่มีความมั่นใจเจ้าของโครงการแล้ว และไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ยืนยันว่าลูกบ้านทุกคนเป็นผู้เสียหายโดยสุจริตและซื้อคอนโดมาอย่างถูกกฎหมาย ส่วนที่ทางบริษัทเจ้าของโครงการออกเอกสารถึงลูกบ้านระบุว่าแจ้งความคืบหน้าทางคดีให้ลูกบ้านทราบมาโดยตลอดนั้นตนยืนยันว่าไม่เคยได้รับการแจ้งความคืบหน้าทางคดี และหลังจากนี้จะยื่นฟ้องกับเจ้าของโครงการ

ขณะที่วันนี้ เวลา 15.30 น. ลูกบ้านรวมตัวกัน พร้อมคณะกรรมการนิติบุคคล จะแถลงข่าวถึงความเดือดร้อน และความกังวลใจของลูกบ้านในตอนนี้.