เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ โพสต์นัดหมายรวมตัวทำกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊ก โดยนัดพบบริเวณหอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม แขวงและเขตห้วยขาวาง กรุงเทพฯ เวลา 17.00 น. ภายหลังพบว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการนำรั้วเหล็กมาปิดบริเวณหน้าทางเข้าหอศิลป์อย่างมิดชิด โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.), บก.น.1 และ สน.ห้วยขวาง รวม 120 นาย ยืนตรึงกำลังอยู่บริเวณด้านในรั้วหอศิลป์แห่งชาติ

ด้านกลุ่มทะลุวัง นำโดย “น้องหยก” และ “ตะวัน” มีมวลชนมากกว่า 20 คน เดินทางมาถึงบริเวณหน้ากระทรวงวัฒนธรรม พร้อมกับสวมหน้ากาก นำอุปกรณ์กระป๋องสีสเปรย์ และ แผ่นใบปลิวโดย มวลชนได้มีการนำสีสเปรย์พ่น ที่บริเวณ พื้นฟุตบาทริมถนนเทียนร่วมมิตร ด้านหน้ากระทรวงฯ รวมถึงมีการโยนใบปลิวเข้าไปด้านในกระทรวง ซึ่งเป็นรูปภาพของ สว. เนาวรัตน์ พร้อมข้อความ ระบุว่า “รูปนี้ใช้เพื่อการสาปแช่ง” ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าตำรวจ ที่รักษาความปลอดภัยโดยรอบ

ต่อมาเวลา 17.30 น. กลุ่มทะลุวังได้มีการปีนรั้ว นำสีขาว เพื่อเข้าไปสาดที่ป้ายของกระทรวงวัฒนธรรม และมีการปาควันสี หลากสี เข้าไปภายใน กระทรวงที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ด้านใน.

โดยหนึ่งในแนวร่วม เปิดเผยว่า อยากเรียกร้องให้ทางกระทรวงฯ ดำเนินการยกเลิกการเชิดชูเกียรติ เพราะมองว่า ส.ว.เนาวรัตน์ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะเป็นคนกลับกลอก โดยมีการงดออกเสียงโหวตนายพิธา ทั้งที่ตอนแรกบอกว่าจะสนับสนุน และศิลปินแห่งชาติก็ได้เงินเดือนจากภาษีของประชาชน จึงตั้งใจมาแสดงศิลปะ เพื่อให้เห็นว่ามันจะเป็นอย่างไรและเป็นประชาชนที่ไม่ยอมรับการมาในฐานะ สว.

ทั้งนี้จะมีการทำกิจกรรมเพียงอย่างเดียวจะไม่มีการยื่นหนังสือ เพราะเคยไปยื่นตามพรรคต่างๆ และสถานที่ราชการ ที่ผ่านมาทำแล้วก็ไม่สำเร็จเพราะรัฐไม่เคยฟังเสียง ถึงไม่เลือกวิธีการดังกล่าว และวันนี้ก็ไม่ได้มีอาวุธมีเพียงกระป๋องสีที่มาสร้างสรรค์งานศิลปะ

ด้านนางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้เตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อพูดคุยและรับข้อร้องเรียนจากกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว โดยไม่ได้กังวลใจอะไร ทั้งนี้ตามกระบวนการจะต้องนัดประชุมคณะกรรมการก่อนล่วงหน้า แล้วนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ซึ่งไม่สามารถบอกกรอบระยะเวลาได้

และที่ผ่านมายังไม่ได้พูดคุยกับ อาจารย์เนาวรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา เพราะท่านไม่ได้ทำงานอยู่ที่นี่ โดยที่สำนักงานวัฒนธรรมแห่งนี้มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง โดยหลังแต่งตั้งก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็เคยมีเคสมาร้องเรียนให้ถอดถอนเช่นกัน

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม บอกเพิ่มเติมว่า ตามระเบียบแล้ว หากมีผู้ร้องเรียนแล้วจะนำไปสู่การยกเลิกการถอดถอนนั้น จริงๆไม่ใช่การถอดถอน แต่เป็นการ ‘ยกเลิกยกย่องการเชิดชูเกียรติ’ ตามกฎกระทรวงนั้น จะมีโทษความผิดทางอาญา และความผิดในลักษณะที่ร้ายแรงตั้งแต่ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้ โดยไม่ได้นับความผิดก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการจะต้องพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วน