จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าครอบครัว พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัว ชื่อ @ingshin21 พร้อมระบุข้อความยืนยันการเดินทางกลับประเทศไทยของบิดา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า อังคารที่ 22 สิงหาคม 09.00 น. ณ ดอนเมือง จะไปรับคุณพ่อทักษิณค่ะ (ตามด้วยอิโมจิหัวใจสีชมพู) และปรากฏข้อความอีกว่า เลื่อน ไม่ได้ ยกเลิก ไม่เพ้อเจ้อนะจ๊ะ (ตามด้วยอิโมจิใบหน้ากลั้นขำและมือท่าหัวใจ) ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

‘อิ๊งค์’ เผยวันกลับไทย ‘ทักษิณ’ แล้ว เตรียมรับคุณพ่อที่ดอนเมือง 22 ส.ค. 9 โมง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขังเข้า-ออกเรือนจำ พ.ศ. 2561 เนื่องจากเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” เข้าสู่ขั้นตอนของศาล รับฟังคำพิพากษาตามคดีคงค้างเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะดำเนินการควบคุมตัวจากศาลไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยพบข้อมูลว่า “ผู้ต้องขังเข้าใหม่” หมายความว่า ผู้ต้องขังที่ยังไม่ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังขั้นพื้นฐาน มาตรา 36 ในวันที่รับตัวผู้ต้องขังเข้าไว้ใหม่ในเรือนจำ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำจัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง โดยอย่างน้อยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ (1) ชื่อและนามสกุลของผู้ต้องขัง เลขประจำตัวประชาชน หรือเอกสารแสดงตนของผู้ต้องขังเท่าที่ทราบ (2) ข้อหาหรือฐานความผิดผู้นั้นได้กระทำ

(3) บันทึกลายนิ้วมือหรือสิ่งแสดงลักษณะเฉพาะของบุคคล และตำหนิรูปพรรณ (4) สภาพของร่างกายและจิตใจ ความรู้และความสามารถ (5) รายละเอียดอื่นตามที่กำหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์ ให้กรมราชทัณฑ์นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขังตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และประมวลผลด้วย เมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำร้องขอให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนหรือสอบสวนคดีอาญาหรือเจ้าพนักงานผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลประวัติผู้ต้องขังส่งรายงานแสดงประวัติของผู้ต้องขังนั้นให้แก่เจ้าพนักงานเรือนจำ มาตรา 37 ในวันที่รับตัวผู้ต้องขังเข้าไว้ใหม่ในเรือนจำ ให้แพทย์ พยาบาลหรือเจ้าพนักงาน เรือนจำที่ผ่านการอบรมด้านการพยาบาลทำการตรวจร่างกายของผู้ต้องขัง ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตรวจร่างกายภายในวันที่รับตัวเข้าไว้ได้ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำเป็นผู้ตรวจร่างกายของผู้ต้องขังนั้นในเบื้องต้นก่อนได้ แต่ต้องจัดให้มีการตรวจโดยเร็ว

นอกจากนี้ หมวด 1 การตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่ ยังระบุด้วยว่า ในกรณีตรวจพบว่าผู้ต้องขังเข้าใหม่รายใดมีอาการเจ็บป่วย หรือพบบาดแผลก่อนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำบันทึกปากคำผู้ต้องขังเกี่ยวกับกับอาการเจ็บป่วยหรือลักษณะบาดแผลที่พบ โดยให้ผู้ต้องขังนั้นลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานพร้อมพยาน และถ่ายรูปบาดแผลไว้ด้วย ส่วนกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ต้องขังเข้าใหม่รายใดมีอาการเจ็บป่วย หรือมีบาดแผล ให้เจ้าพนักงานเรือนจำแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ผู้ต้องขังร้องขอ ทราบถึงอาการเจ็บป่วยหรือเหตุแห่งการมีบาดแผลนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้ต้องขังเข้าใหม่คนใดเจ็บป่วย มีอาการมึนเมา มีอาการส่อว่าจิตไม่สมประกอบ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีประวัติการติดสุรา หรือมีโรคติดต่อซึ่งจะลุกลามเป็นภัยแก่ผู้อื่น ให้จัดแยกผู้ต้องขังเข้าใหม่นั้นแยกจากผู้ต้องขังอื่น และให้แพทย์ พยาบาลหรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่ผ่านการอบรมด้านพยาบาล ชี้แจงแนะนำการปฏิบัติแก่เจ้าพนักงานเรือนจำ และถ้าจำเป็นต้องส่งตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่นั้นไปรักษายังสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำ ให้ดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจรักษา

ส่วนเกณฑ์เยี่ยมผู้ต้องขังเข้าใหม่นั้น ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเอกสาร ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูแลกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 พบว่า หมวด 1 บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง ข้อ 6 บุคคลภายนอกจะเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังได้ มีดังนี้ (1) เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการเรือนจำในการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ออกโดยทางราชการที่ปรากฏภาพถ่ายไปแสดงต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ และให้เจ้าพนักงานเรือนจำจดบันทึกข้อมูลบุคคลภายนอกผู้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อไว้เป็นหลักฐาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง กิจธุระ หรือประโยชน์ในการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังนั้น (2) เฉพาะผู้ต้องขังที่ได้รับโอกาสให้ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อจากบุคคลภายนอก

(3) ต้องเข้าเยี่ยมหรือติดต่อในวันและเวลาตามที่เรือนจำได้กำหนดไว้ หากมีเหตุพิเศษจำเป็นต้องพบผู้ต้องขังนอกวันและเวลาที่กำหนด ให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการเรือนจำ แต่ต้องไม่ใช่ระหว่างเวลาที่เรือนจำได้นำผู้ต้องขังเข้าห้องขังแล้ว และยังมิได้นำออกจากห้องขัง เว้นแต่ผู้บัญชาการเรือนจำเห็นเป็นการจำเป็นที่สมควรจะอนุญาต และในข้อ 7 ยังระบุด้วยว่า เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำ กำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้า รายชื่อบุคคลภายนอกนั้นให้มีจำนวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็ให้สามารถดำเนินการได้โดยต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ในกรณีมีเหตุพิเศษ ผู้บัญชาการเรือนจำอาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลภายนอกนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้ตามวรรคก่อน เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังก็ได้ อีกทั้ง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยกล่าวในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า สำหรับสิทธิสวัสดิภาพอื่นๆ คงต้องดูตามความเหมาะสม เช่น การเยี่ยมปกติจะให้เข้าเป็นรอบเวลาและเป็นแดน ซึ่งหากนายทักษิณเข้ามาแล้ว อาจจะมีกลุ่มครอบครัวหรือญาติ เพื่อน องค์กรสิทธิต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ประสงค์เดินทางเข้าเยี่ยมจำนวนมาก ดังนั้น ราชทัณฑ์จึงต้องวางแผนบริหารจัดการ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเรือนจำฯ พิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานปิดท้ายว่า วานนี้ (18 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ปรากฏมีตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์เดินทางเข้าร่วมประชุมกับหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ เจ้าหน้าที่กองการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) หน่วยต่อต้านก่อการร้ายสากล ศูนย์สืบสวนนครบาล เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับตัวอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งวันนี้ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อไปยัง นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อจะสอบถามเกี่ยวกับวาระที่ทางราชทัณฑ์ได้รับฟังจากที่ประชุมและความรับผิดชอบในหน้างานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเรือนจำฯ มาตรการรองรับมวลชนที่จะไปเกาะติดที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อให้การต้อนรับนายทักษิณ ว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มีการกำชับเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ และทางราชทัณฑ์มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยบริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯอย่างไร ในกรณีที่อาจจะต้องดูในส่วนของผู้ไม่หวังดีหรือมือที่สาม รวมถึงม็อบผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถติดต่อ หรือได้รับการประสานกลับจากทั้งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่อย่างใด ทราบจากเจ้าหน้าที่ภายในกรมราชทัณฑ์เพียงว่า จะมีการเสนอรายงานประเด็นข้อคำถามดังกล่าวของสื่อมวลชนให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ และจะมีความคืบหน้าและการบริหารจัดการเรียนแจ้งกลับมาภายหลัง.