เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีการฟันธงว่าที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ คนที่ 14 แย้มออกมาแล้วตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วนั้น วันนี้เราจึงจะมาทำความรู้จัก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. ให้มากยิ่งขึ้น โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีชื่อเล่นว่า “ต่อ” เกิดวันที่ 27 ม.ค.2507 จบมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนโยธินบูรณะ ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดงรุ่น 38 ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณทิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยก่อนเข้ารับราชการตำรวจเมื่อปี 2540 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยเป็นพนักงานบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ ก่อนตัดสินใจลาออกเดินหน้าตามความฝันในวัยเยาว์ที่อยากเป็นตำรวจ เข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิ ทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4

‘ฟันธง’ คนนี้แหละ ‘ผบ.ตร.’ คนใหม่ ผงาดครองนามเรียกขาน ‘พิทักษ์ 1’

ครั้นจบหลักสูตรได้สวมเครื่องแบบตำรวจอย่างที่ตั้งใจหวัง พร้อมก้าวเข้าสู่เส้นทางถนนสีกากีในตำแหน่งรองสารวัตร แผนก 3 กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม,(รอง สว.ผ.3 กก.2 ป.), สารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยว 3 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ,สว.กองกำกับการปฎิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม(สว.กก.ปพ.บก.ป.) , รองผู้กำกับการปฎิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราม (รอง ผกก.ปพ บก.ป.), ผู้กำกับการปฎิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราม(ผกก.ปพ.บก.ป.), รองผู้บังคับการปราบปราม(รอง ผบก.ป.), ก่อนที่ปี พ.ศ.2561 กำกับการปฎิบัติการพิเศษได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมราชทานนามหน่วยงานใหม่ เป็น “กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ” โดยมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรก , เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(รอง ผบช.ก.), เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานปราบปราม

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร. ได้แบ่งงานศูนย์อาชญากรรมพิเศษ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.), ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.), ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.), ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.)

ในระหว่างการรับราชการพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับฉายาต่าง ๆ ทั้ง “มือปราบสายธรรมะ” และ “โรโบคอปสายบุญ” ที่บรรดาสื่อมวลชนสายอาชญากรรม-ตำรวจ ต่างขนานนามให้ เหตุที่ภาพของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ถือเป็นนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงาน บ่อยครั้งที่จะเห็นภาพของ “รองต่อ” เดินสายปฎิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ

ซึ่งครั้งหนึ่งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์กับเดลินิวส์ว่า “การได้เป็นเด็กวัดเดินตามพระ ทำให้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะทำให้ได้คิดว่า เมื่อเราถอดเครื่องแบบออกแล้ว เราก็แค่คนธรรมดา ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร ใหญ่โตแค่ไหน และตอนที่อยู่วัด ได้ตื่นเช้า ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้ตอบแทนพุทธศาสนา แถมได้ออกกำลังกายด้วย จึงชอบชวนให้ลูกน้องเข้าวัด แต่ไม่ได้บังคับ ทุกคนสมัครใจที่จะทำ เหตุนี้ล่ะมั้งที่ใคร ๆ ชอบเรียกเราว่าเป็นมือปราบสายธรรมะ” นอกจากการใช้หลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ในการบริหารงาน และในห้วงที่ “รองต่อ” ดำรงตำแหน่งผกก.คอมมานโด ได้จัดระเบียบหน่วยใหม่ เน้น “สวัสดิการ” ลูกน้อง ตรวจดูบัญชีครัวเรือนของลูกน้องทุกคน พร้อมจัดหาสวัสดิการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

นอกจากนี้ในแง่ของฝีมือและผลงานถือเป็นหนึ่งนายตำรวจที่ให้ความสำคัญในแง่การพัฒนาบุคลากร จัดฝึกอบรม “แอคทีฟ ชูตเตอร์” ให้ความรู้ตำรวจทั้งสายงานปราบปราม–หน่วยปฎิบัติการพิเศษ เกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับมือเหตุเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุกราดยิง ควบคู่กับการต่อยอดความรู้ไปยังสถานศึกษา และหน่วยงานอื่น กลายเป็นหลักสูตรที่รู้จักแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังเป็นนำผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาปรับโฉมรถสายตรวจ ที่ใช้ในปัจจุบัน จุดประกายนำปืน“ช็อตไฟฟ้า”ลดความสูญเสียของผู้ปฏิบัติ กระทั่งการได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขเรื่องอาวุธปืนหลวง ปัดฝุ่นระเบียบปืนสวัสดิการ นำ QR Code มาใช้ตรวจสอบและติดตามแก้ปัญหาลอบนำปืนหลวงออกไปขาย

ครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ”ไม่ได้เคยคิดไปถึงขั้นเป็นผบ.ตร.เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่สำคัญ ไม่ใช่นักเรียนนายร้อย แต่คิดว่าทำงานในตำแหน่งที่เราได้รับให้ดีที่สุดก็พอ” ซึ่งจากนี้ต้องดูว่า 1 ปีในการคุมบังเหียนกรมปทุมวัน พล.ต.อ.ต่อศํกดิ์ จะขับเคลื่อนองศ์กรไปในทิศทางใด.