เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มอบหมายให้ นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ หัวหน้าพนักงานสอบสวน และ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ร่วมแถลงรายละเอียดในประเด็นความคืบหน้าคดีหมูเถื่อนแช่แข็ง 161 ตู้

DSI ลุยค้น 11 จุด บริษัทนำเข้าหมูเถื่อน จ่อถกร่วมศุลกากร-ปศุสัตว์ ทำลายของกลาง

พ.ต.ต.ณฐพล เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ดำเนินการทางคดีมาอย่างต่อเนื่องนั้น พบว่านอกจาก 17 สายเรือ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนดังกล่าว ยังมีอีก 2 สายเรือ รวมทั้งหมด 19 สายเรือ และหลังจากนี้ เราจะออกหมายเรียกพยานแก่สองสายเรือให้เข้าชี้แจงต่อไป และหากนับไปถึงวันที่ 31 ส.ค. นี้ ตู้สินค้าที่เราตรวจยึดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2565 พบว่าบริษัทที่เป็นเจ้าของสายเรือและตู้ที่มาวางไว้ ยกตัวอย่าง สายเรือแห่งหนึ่งมีการนำเข้า 5 ตู้คอนเทเนอร์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันที่เขาได้รับผลกระทบ คิดเป็นความเสียหายประมาณ 11.4 ล้านบาท (ราคาค่าความเสียหาย 5 ตู้คอนเทเนอร์จากทั้งหมด 161 ตู้)

ส่วนสิ่งที่สำคัญคือเราต้องการหาตัวผู้กระทำความผิด และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนได้กระจายกำลังเข้าตรวจค้น 11 บริษัท หรือ 11 ชิปปิ้งเอกชน ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ลพบุรี และนครปฐม เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีชื่อในการสั่งสินค้าซากสุกรเข้ามาในไทย ภายหลังการตรวจค้นพบว่าเป็นบริษัทขนาดเล็ก บางบริษัทก็ปิดร้างลง อย่างไรก็ตาม จากการขยายผล เราเชื่อว่าจะมีผู้บงการหรือนายทุนอยู่เบื้องหลังแน่นอน และบางส่วนจาก 11 ชิปปิ้งเอกชนเหล่านี้ เราได้ออกหมายเรียกพยานไปแล้ว

พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า จากการขยายผล เรายังพบว่ามีอีก 2 บริษัทที่อยู่ทางภาคใต้ มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนครั้งนี้ และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารของ 2 บริษัทนี้ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าบริษัทเป็นของใคร ตั้งอยู่ที่ไหน มีวัตถุประสงค์จัดตั้งเพื่ออะไร และมีใครอยู่ในโครงสร้างบริษัทบ้าง นอกจากนี้ จากการประชุมร่วมกันทั้งสามหน่วยงาน ได้แก่ ดีเอสไอ กรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร ในเรื่องของกลางที่นำเข้า พบว่าทั้งหมดเป็นเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการตรวจโรค เข้าข่ายต้องดำเนินการทำลายทั้งหมด จะมีการทำลายภายในเดือนกันยายนแน่นอน และเป็นการทำลายตามขั้นตอนของกรมปศุสัตว์ ส่วนภารกิจที่ดีเอสไอต้องเร่งทำ คือ การขยายผลไปสู่เจ้าของขบวนการที่แท้จริง เนื่องจาก 11 บริษัทที่เราได้ไปตรวจค้นมานั้น ไม่น่าจะเป็นผู้สั่งการ และในสัปดาห์หน้าเราจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการสืบสวนสอบสวน เราจะใช้การสืบสวนผ่านเส้นทางการเงิน และทรัพย์สิน เพื่อหาผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า หลังจากนี้เราจะมีการประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับสถานที่สำหรับการฝังกลบทำลายหมูเถื่อน ซึ่งเป็นสถานที่ของปศุสัตว์ ภายในพื้นที่จังหวัดสระแก้วเช่นเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งได้มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ตามระเบียบขั้นตอน และในการฝังกลบทำลายเราจะเชิญสื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องของกลางหล่นหาย เพราะจะต้องมีการขนย้ายของกลางทั้งหมด 161 ตู้ จากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มายังพื้นที่จังหวัดสระแก้ว อีกทั้งในการทำลายของกลางนั้น เจ้าของตู้ที่แท้จริง (19 สายเรือ หรือบริษัทว่าจ้าง 19 สายเรือ) จะต้องเป็นผู้ดำเนินการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งบริษัทสายเรือส่วนใหญ่ ก็ได้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว แล้วก็เป็นเรื่องของกรมปศุสัตว์ที่จะต้องไปเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดด้วย

พ.ต.ต.ณฐพล เผยด้วยว่า สำหรับการขนย้ายของกลาง เท่าที่มีการพูดคุยกับกรมศุลกากร เราจะมีการขนย้ายในช่วงเช้ามืดจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขนย้ายสินค้าของทางท่าเรือ ใช้เวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง ถึงที่หมาย โดยจะนำออกครั้งละประมาณ 10 คัน อีกทั้งการต้องตรวจโรคที่เกี่ยวกับหมูจึงทำให้ล่าช้า คาดว่าจะใช้เวลา 4 วัน ในการขนย้ายครบทั้ง 161 ตู้ ซึ่งคันไหนถึงก่อน ก็เทลงดินก่อนได้เลย และดีเอสไอจะรับหน้าที่ดูแลขนย้ายของกลางทั้งหมด ทั้งนี้ มีหมูเริ่มเน่าแล้ว 4 ตู้ และใน 4 ตู้นี้ จะมีรถเผาของกรมปศุสัตว์ ที่จะดำเนินการเผาทิ้งที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะถ้าหากขนย้ายไปฝังกลบด้วยก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดได้

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ระบุว่า เรารับคดีหมูเถื่อนมาเป็นคดีพิเศษ เพราะเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะราคาหมูหน้าฟาร์มที่สามารถจำหน่ายได้ เป็นราคาที่เขาขาดทุนอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท และในหนึ่งวัน คนไทยทั่วประเทศบริโภคเนื้อหมูอยู่ที่ 5 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น เกษตรกรไทยจะเสียหายวันละ 150 ล้านบาท และจากการปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย ขณะนี้ราคาหมูสดหน้าฟาร์มกับราคาที่เขาขาดทุน ตอนนี้ลดลงเหลือส่วนต่างของต้นทุนกับที่เขาขายได้ อยู่ที่ประมาณ 12 บาท เราช่วยให้พวกเขาขาดทุนได้น้อยลง แต่วัตถุประสงค์คือต้องการให้ราคาเนื้อหมูกลับมาสู่ภาวะความจริง ในเมื่อเกษตรกรไทยเลี้ยงสุกร ก็ต้องขายได้ราคาบ้าง ไม่ใช่ขาดทุนสะสม

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ระบุถึงการสืบสวนขยายผลเรื่องเส้นทางการเงินว่า ในวันจันทร์ที่ 28 ส.ค. นี้ เราได้เชิญเจ้าหน้าที่ ปปง. มาร่วมตรวจสอบเส้นทางเงิน เพราะการนำเข้าหมูเถื่อนนั้น ต้องใช้เงินในการสั่งซื้อเนื้อหมูที่ต่างประเทศ แต่ในระหว่างนี้ เราพบผู้เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงิน พบว่ามีการโอนเงินจากบุคคลใดบ้างเพื่อไปชำระค่าเนื้อหมูปลายทาง ซึ่งตัวบุคคลที่ทำธุรกรรมทางการเงิน มีทั้งที่อยู่ในโครงสร้างของบริษัท รับหน้าที่เป็นกรรมการบริษัท และมีทั้งที่อยู่นอกโครงสร้างของบริษัทด้วย ซึ่งการที่ตัวบุคคลใดอยู่นอกโครงสร้างบริษัทและไม่ได้มีอำนาจในการทำธุรกรรม เราต้องหาสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงมีเส้นทางการเงินเกิดขึ้น

ส่วนจำนวนเงินที่พบว่ามีการโอนไปสั่งซื้อหมูนั้นค่อนข้างมีจำนวนมาก เบื้องต้นพบช่วงปีที่ผิดสังเกต คือ ปี 64-65 เพราะเป็นปีที่เกิดการนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง เนื่องจากมีการนำเข้าที่เยอะผิดปกติ ทั้งนี้ พบบริษัทนำเข้า 10 แห่ง ที่มีเส้นทางเงินพัวพันในการสั่งซื้อหมู และแต่ละบริษัทก็มีกรรมการผู้มีอำนาจประมาณ 2-3 ราย ที่มีธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้น แต่ละบริษัทจะมีผู้เกี่ยวข้องในเรื่องการทำธุรกรรมไม่ต่ำกว่า 5 ราย เบื้องต้นเกินหลักสิบล้านบาทแน่นอน สำหรับ 470,000 กิโลกรัม หรือ 161 ตู้คอนเทเนอร์

ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ระบุอีกว่า สำหรับการสอบปากคำในฐานะพยานแก่บริษัทชิปปิ้งเอกชนบางแห่ง ให้การไม่ค่อยเป็นประโยชน์ มีการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการสำแดงเท็จกับพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะดำเนินการสอบสวนขยายผลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด.