ภายหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจแทนการรักษาตัวที่ห้องพยาบาล หรือแดน 7 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องด้วยอาการเจ็บป่วยหลายโรครุมเร้า และต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงแพทย์เฉพาะทางเพื่อการรักษา อีกทั้งยังมีการตั้งขอสังเกตสำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษ เนื่องด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีถือเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดีทุจริตจะสามารถดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้หรือไม่ รวมถึงวานนี้ (26 ส.ค.) ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังระบุด้วยว่าทางครอบครัวของนายทักษิณได้มีการประสานสอบถามข้อมูลมาทางเรือนจำฯ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงเกณฑ์เเละขั้นตอนการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือครอบครัว ว่า สำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ตนขอเรียนอธิบายอย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดทุกรายสามารถดำเนินการได้ โดยกระบวนการจะเริ่มต้นที่ราชทัณฑ์ ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดจากรายคดีใดจะได้รับการอภัยโทษหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ แต่ยืนยันว่านักโทษเด็ดขาดทุกคดีสามารถเขียนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ทั้งหมด ส่วนหน้าที่ของเรือนจำฯ ภายหลังจากที่ผู้ต้องขังยื่นขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เราจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารแนบ ตรวจสอบข้อความ ตรวจกระบวนการและจะส่งต่อไปตามลำดับชั้น คือ 1.กรมราชทัณฑ์ โดยรายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่ามีการเขียนทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2.กระทรวงยุติธรรม 3.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 4.สำนักราชเลขาธิการ จากนั้นจะเป็นการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และเมื่อมีผลฎีกาไม่ว่าจะเป็นการพักโทษ ลดโทษ พ้นโทษ หรือยกฎีกา ก็จะมีการแจ้งมายังเรือนจำ/ทัณฑสถานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายนัสที กล่าวอีกว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย มีระเบียบตามที่กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดไว้ คือ จะมีแบบฟอร์มคำร้องแบบบังคับของเรือนจำฯ และในเอกสารส่วนที่จำเป็นต้องใช้ประมาณ 7-8 รายการ อาทิ เอกสารรายงานคุณงามความดี เอกสารทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งผู้ต้องขังสามารถดำเนินการเองได้ หรือจะเป็นญาติทางสายเลือดที่ดำเนินการแทน แต่เอกสารต้องครบถ้วนและถูกต้อง

นายนัสที ยังระบุถึงการทยอยเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ที่ รพ.ตำรวจ ของบรรดา 10 รายชื่อว่า ในวันที่เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณ จริงๆแล้วอาจมีไม่ถึง 10 ราย บางวันอาจมี 3-4 ราย หรือวันถัดไป 7-8 รายก็ได้ แต่บุคคลเข้าเยี่ยมต้องเป็นชื่อที่ลงทะเบียนไว้ 10 รายชื่อนี้เท่านั้น และในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คอยดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ญาติที่ได้ลงทะเบียนวันเข้าเยี่ยมแล้วต้องมารับบัตรอนุญาตที่เรือนจำฯ จากนั้นนำไปติดต่อเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลตำรวจเพื่อเข้าเยี่ยมนายทักษิณตามขั้นตอน และการเข้าเยี่ยมทำได้ทุกวัน แต่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ของฝากหรือกระเช้าไม่สามารถนำเข้าเยี่ยมได้ทุกกรณี.