เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จ.ลำปาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดพิธี “ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์” โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ เป็นประธาน นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดพิธี นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ นายสุกิจ จันทร์ทอง ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองดีกรมอุทยานฯ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมในพิธี 

นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้เห็นชอบอนุมัติงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับมารักษาอาการเจ็บป่วยที่ประเทศไทย คุณกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรฯ ตลอดจนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนร่วมในการเจรจาทางการทูต การจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ของทางราชการ การดำเนินพิธีการทางไซเตส การตรวจกักกันโรค ตลอดจนการรักษาอาการเจ็บป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ จากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต่อมาความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 

ทั้งนี้ ภายในงานมีพิธีฟ้อนขันตอก พิธีฮ้องขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ โดยนายบุญยัง บุญเทียม ควาญช้างอาวุโส เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม สำหรับการฮ้องขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการเรียกขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่รัฐบาลไทยมอบให้ประเทศศรีลังกา ในฐานะทูตสันถวไมตรี ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สภาพจิตใจเป็นปกติ ประสบความสำเร็จในระหว่างรักษาอาการป่วย ตามคติความเชื่อของวิถีการเลี้ยงช้าง และภายในงานยังมีการเลี้ยงขันโตกพลายสักสุรินทร์อีกด้วย 

โดยชาวล้านนามีพิธีกรรมโบราณ เรียกว่า “พิธีฮ้องขวัญ” หมายถึง พิธีเรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างเดิม พิธีฮ้องขวัญเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ พิธีฮ้องขวัญ จะทำในโอกาสที่ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีเหตุต้องจากบ้านไปไกล มีความเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุ หรือในกรณีที่มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนบ้านเมือง พิธีกรรมฮ้องขวัญของชาวล้านนา มักปฏิบัติร่วมกับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ (ส่งเคราะห์) และพิธีสืบชะตา โดยปฏิบัติต่อเนื่องกัน เริ่มจากการสะเดาะเคราะห์ การสืบชะตาและการเรียกขวัญ ซึ่งพิธีฮ้องขวัญ ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในสังคมล้านนา ทั้งชนเผ่าชาวไทยล้านนาและชาวเหนือตอนล่าง มีบทบาทเป็นพิธีกรรมแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม สร้างเสริมกำลังใจ ขัดเกลาจริยธรรมและพฤติกรรมคนในสังคม พิธีเรียกขวัญหรือพิธีทำขวัญของชาวเหนือมีหลายลักษณะ ได้แก่ การเรียกขวัญเด็ก (การทำขวัญ) ขวัญลูกแก้ว (นาค) เป็นต้น  

สำหรับสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะนี้พ้นระยะกักโรคแล้ว และรักษาอาการป่วยอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลช้างลำปาง หลังพิธีฮ้องขวัญ ในวันที่ 28 ส.ค. นี้ จะมีการจัดทำโปรแกรมการตรวจรักษาสุขภาพช้างฯ และเตรียมเปิดให้ประชาชนได้เยี่ยมชม ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ต่อไป.