โดยเฉพาะการลดค่าน้ำค่าไฟ การพักหนี้เกษตรกร การเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ให้คำมั่นสัญญากับคนไทยทั้งประเทศไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงคำมั่นที่จะเดินหน้าทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อพาประเทศไทยไปข้างหน้าและสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบนโยบาย “1 กระตุ้น 3 เร่งด่วน 3 สร้าง” ที่ประกอบไปด้วยการเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
– การเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเร่งแก้หนี้ให้ประชาชน การเร่งแก้ไขราคาพลังงาน – การสร้างรายได้ สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การประกาศนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทีละนิดทีละหน่อย พร้อมกับการเดินสายรับฟังปัญหาของทุกกลุ่มในช่วงระหว่างนี้ ก็ถือได้ว่าได้ “สร้างความหวัง” ให้กับคนไทยไม่น้อย แม้ไม่ถูกใจใครได้ครบทุกคนทั้ง 100% ก็ตามที แต่จนถึงวันนี้ยังมีเสียงสะท้อนดัง ๆ จากภาคเอกชน!! ที่ยังคงคาดหวังว่ารัฐบาล โดยเฉพาะตัวของนายกฯ เศรษฐา ที่อาจรับฟัง!!

การบ้าน 100 วันที่ต้องการ

อย่าง “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำไว้ว่า วาระเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการใน 100 วันแรก ชัด ๆ เลย ก็เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า กระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกของไทย รวมถึงแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ควบคู่ไปกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ การเร่งเสริมความโดดเด่นการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายและถือเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว ทั้งการลดขั้นตอนการกรอกอี-วีซ่า ให้น้อยลง หรือใช้มาตรการ “ฟรีวีซ่า” ให้นักท่องเที่ยวจีนแบบที่นายเศรษฐาได้ประกาศไว้ที่ถือเป็นเรื่องดี  

นอกจากนี้ยังต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย 67 ให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออก โดยหอการค้าฯ หวังว่าหากรัฐบาลใหม่เข้ามาโฟกัสภาคการส่งออกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ตัวเลขการส่งออกน่าจะกลับมาตีตื้นขึ้นมาเป็นบวก และภาพรวมทั้งปีอาจติดลบเล็กน้อยซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่พอรับได้

เงินหมื่นบาทกระตุ้น ศก.

ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570, ลดค่าไฟฟ้าหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลเพื่อไทย ในวงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพี  ให้เพิ่มขึ้นประมาณ  3-4% และคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ หรือคิดเป็น 1-1.5 ล้านล้านบาท ส่วนนี้จะช่วยดึงกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้งได้ทันที ทำให้จีดีพีของไทยปี 67 ขยายตัวได้ประมาณ 5% ภายใต้เงื่อนไขการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ 3-5%

ลดค่าไฟน้ำมันทันใจ

เช่นเดียวกับ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ออกตัวสนับสนุนการลดราคาไฟฟ้า และน้ำมัน ในการประชุม ครม.นัดแรก เพราะถือเป็นเรื่องที่ดีและทำได้ทันใจกับสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไว้ ตามที่หาเสียงไว้ ส่วนจะลดลงได้มากน้อยอย่างไรก็ต้องรอดูความชัดเจน ซึ่งการลดค่าพลังงานเป็นหนทางที่ถูกต้องเพราะมีส่วนสำคัญในการลดค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ สิ่งสำคัญเมื่อลดค่าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นน้ำมันเศรษฐกิจที่ใช้มากสุด และยังมีผลต่อต้นทุนการขนส่งภาครัฐก็จำเป็นต้องดูแลราคาสินค้าให้ปรับราคาอย่างเหมาะสมด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค

แจกเงินกระตุ้นศก.ตรง

ด้าน “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต้องใช้เวลา จึงเกิดคำถามว่าจะทันช่วงต้นปี 67 เหมือนกับที่นายเศรษฐาระบุไว้หรือไม่ เพราะถึงแม้ระบบจะทำได้ทัน แต่ร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลจะทำได้ทันหรือไม่ หรือเปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินสดก็จะง่ายกว่า แต่ยอมรับว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก เหมือนกับโครงการคนละครึ่งที่ในช่วงที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เงินดิจิทัลที่จะนำมาแจกในครั้งนี้ จะนำมาจากแหล่งใด และการแจกเงินให้ตั้งแต่คนอายุ 16 ปีขึ้นไป จะเป็นภาระทางการคลังเพิ่มมากขึ้น จากหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 61% ต่อจีดีพี หากแจกให้กับคนตามกลุ่มเป้าหมายจะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะถ้าให้เงินกับคนที่ต้องการจริงก็จะช่วยได้มากขึ้น

ส่วนนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี ต้องสอดคล้องกับประสิทธิภาพภาคการผลิต และโครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป สอดคล้องกับการเพิ่มค่าแรงหรือไม่ โดยสนับสนุนให้มีธุรกิจใหม่ เช่น ในด้านเทคโนโลยี และดูแลในเรื่องค่าไฟไม่ให้แพงเกินไป เพื่อดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย และควรสนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย หรือมาอยู่ยาวหลังเกษียณ เพื่อเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยหรือให้มาจ่ายภาษีในไทยเพิ่มขึ้น

แนะศึกษาโมเดลจีน

ขณะที่ในมุมของ “กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือสมาคมอีคอมเมิร์ซไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคอี-บิสสิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด บอกว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งรวมนโยบายด้านอีคอมเมิร์ซที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงานรัฐให้มารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อจะได้รู้ว่าหน่วยงานไหนทำอะไรที่ไหนบ้างผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับเริ่มต้น ระดับกลาง และสูง จะได้รู้ว่าต้องไปติดต่อหน่วยงานใด โดยอยากให้ดูนโยบายส่งเสริมอีคอมเมิร์ซของจีนที่ปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว รัฐบาลจึงออกนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการใน 33 มณฑลทั่วประเทศให้สามารถขายสินค้าออกไปทั่วโลกแบบครอส บอร์เดอร์ด้วยอีคอมเมิร์ซ โดยสนับสนุนเรื่องงบประมาณการขนส่ง ภาษี ฯลฯ ซึ่งเวลานี้การส่งออกของไทยติดลบอยู่ ให้ดูโมเดลของจีนเป็นตัวอย่างว่าทำอย่างไรให้อีคอมเมิร์ซไทยโตได้แบบจีน

นอกจากนี้การเติบโตของ ไลฟ์ สตรีมมิง หรือ ไลฟ์ คอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้าที่ได้รับความนิยม ซึ่งในจีนมีกรณีศึกษาแต่ละมณฑลมีรายได้จาก ไลฟ์ คอมเมิร์ซ ถึง 70,000 ล้านหยวน โดยพ่อค้าแม่ค้าออกมาแข่งกันไลฟ์ขายของ ซึ่งในไทยเริ่มมีบ้างแล้ว แต่สมาคมฯ อยากให้รัฐมีแผนสนับสนุนหรือแผนแม่บทในการสนับสนุนเรื่องนี้ อย่างเช่น เมืองเซี่ยงไฮ้ มี “แผนปฏิบัติการเซี่ยงไฮ้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ออนไลน์” ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ว่าจะสนับสนุน ไลฟ์ สตรีมมิง อย่างไรบ้าง แต่ในจีน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มีแผนแบบนี้แล้ว นอกจากนี้ควรจะมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กจบใหม่เข้ามาค้าขายผ่านออนไลน์มากขึ้นและทำอย่างต่อเนื่องพร้อมสนับสนุนความรู้ด้าน อีคอมเมิร์ซ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง และเงินทุน เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ด้วย

ชงนั่งบอร์ดท่องเที่ยว

ขณะที่ในด้านการท่องเที่ยวเองที่นายกฯ เศรษฐาดูจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการตอบรับในเรื่องของฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีนนั้น ทาง “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า เองก็บอกว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและมีความเข้าใจจริงด้านเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ส่วน รมว.การท่องเที่ยวฯ แม้เป็นคนใหม่แต่อยู่พรรคเดียวกับนายกฯ ก็มั่นใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลทำในเวลานี้ คือ การเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว แก้ปัญหาเชิงลบด้านการท่องเที่ยวไทย และส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศสำหรับประเทศที่ยังเข้ามาน้อย เช่น จีน ญี่ปุ่น เพื่อให้บริษัททัวร์มีงานทำเพราะบริษัทเหล่านี้กำลังลำบากอยู่ รวมถึงทำการตลาดในประเทศใหม่ ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวปีนี้ก็น่าจะได้ประมาณ 29 ล้านคน

ส่วน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ย้ำว่า นายกฯ คนใหม่ ควรนำเรื่องของการท่องเที่ยวมาดูแลเอง โดยการเป็นประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซี่งจากการที่นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยว สะท้อนว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เอกชนจะขอหลังจากนี้ คืองบบูสเตอร์ช็อต ให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพิ่มแหล่งเงินให้กับรัฐและเอกชน เช่น ดิจิทัลฟันด์หรือกองทุนด้านการเงิน เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ให้เอกชนสามารถไปฟื้นฟูหรือหมุนเวียนในธุรกิจได้ พร้อมกับสนับสนุนการให้ความรู้ด้านดิจิทัลให้กับเอกชน

เงินต้องถึงมือคนไทยทั่วถึง

หันมาดูที่ตลาดเงินตลาดทุน “สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร” กรรมการชมรมวาณิชธนกิจ เห็นว่า การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกมาตรการมากระตุ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แม้มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายการประกาศใช้นโยบายบางเรื่องอาจส่งผลทำให้มีภาระหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองภาพใหญ่ถือว่ายังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดต้องรอดูรายละเอียดของนโยบาย รวมถึงการกำกับดูแลเพื่อทำให้การใช้นโยบายไปลงสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง และทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ

ณ เวลานี้ คงเร็วเกินไป หากจะท้าทายฝีมือ นายเศรษฐาและทีมงาน เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์!!.

ทีมเศรษฐกิจ