เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมผู้ต้องหาตามยุทธการ “ปฏิบัติการยุบวงจร หลอกลงทุนกลุ่มอมตะ เฟส 2” จับกุมผู้ต้องหา 10 ราย

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากชุดสืบสวนได้เปิดปฎิบัติการทลายขบวนการหลอกลงทุนกลุ่มอมตะ โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย จาก 11 ราย เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ต่อมายังพบว่ามีเพจที่ถูกปลอมเพิ่มขึ้นอีกกว่า 73 เพจปลอมมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความเพิ่มจากเดิมอีกจำนวนกว่า 203 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 66 ล้านบาท จึงได้ทำการสืบสวนออกหมายจับ 19 หมาย จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมได้กว่า 10 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงในการกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหลายคดี ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งติดตามตัวและเร่งขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดต่อไป

ในส่วนวิธีการมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มเทรดหุ้นของ กลุ่มอมตะ โดยมิจฉาชีพจะแอดไลน์ อ้างตัวเป็นโบรคเกอร์โดยใช้ชื่อไลน์แตกต่างกันไป อาทิ amata4978 , amataservice7891 , service worker , Amata2788 , Inmot_88 เป็นต้น เข้ามาพูดคุยเรื่องการลงทุนระยะสั้น จากนั้นได้แจ้งผลกำไร แล้วแจ้งให้ผู้เสียหาย โอนเงินเพื่อจ่ายภาษีจากผลกำไร โดยให้ ผู้เสียหายโอนเงินผ่านบัญชีม้า ซึ่งมิจจาชีพจะใช้รูปโฆษณาในเพจเฟซบุ๊คเพื่อชักชวนให้ลงทุนกับกองทุนอมตะ โดยมีภาพคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ทำให้ดูน่าเชื่อถือและหลงเชื่อว่ามีผลตอบแทนที่ดี จึงติดต่อไปยังแอดมินเฟซบุ๊ค มิจฉาชีพ และมีการแอดไลน์พูดคุย เชิญชวนให้เปิดพอร์ตแบบระยะสั้น ให้ทำการโอนเงินครั้งแรกจำนวนน้อยๆก่อน และให้ทำการเทรดจำนวนหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะให้โอนเงินเติมเข้าพอร์ตการลงทุนจากหลักพันบาทในครั้งแรก และค่อยๆให้โอนเพิ่มเติมถึงหลักแสนบาท โดยจะแสดงผลกำไรและแจ้งกลับมาให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเมื่อผู้เสียหายขอปิดบัญชี เพื่อเบิกเงินออกมา มิจฉาชีพจะแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นเงินหลักแสนอีก เมื่อผู้เสียหายไม่โอนเงิน ทางมิจฉาชีพมีการต่อว่า และตัดการติดต่อไป ซึ่งมิจฉาชีพมีการหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนหลายราย ได้ทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจน เนื่องจากพบว่าคนร้ายมีการปั้มยอดและผู้ถูกใจให้สูงใกล้เคียงเพจจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันเฟสบุ๊คมีการอัพซอฟแวร์โดยมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าด้านหลังชื่อบัญชี เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ติดตามบัญชี ว่าเจ้าของบัญชีมีตัวตนไม่ใช่มิจฉาชีพ ผบช.สอท.กล่าว

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นย้ำ บช.สอท. กวาดล้างหลังพบว่า การหลอกลงทุน เป็นความเสียหายอันดับหนึ่งที่ทางประชาชนแจ้งความ โดยทาง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. ได้ประสานขอความร่วมกับทางกสทช.ในการ เปิดปฏิบัติการตัดวงจรคอลเซ็นเตอร์ซิมสายเสา และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ พ.ต.อ.สุวัฒชัย ระบุ นอกจากบริษัทเครืออมตะที่ถูกอ้างชื่อแล้วยังพบว่ามิจฉาชีพยังหลอกเหยื่อในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนบริษัท อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ Gulf ,ไทยกรุ๊ป และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างสืบสวนจับกุมขบวนการ อีกทั้งจากแนวทางสืบสวนพบว่าขบวนการนี้เมื่อหลอกเงินเหยื่อได้จะนำเงินที่ได้ไปแปลงเข้าสู่คริปโต

ด้าน นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทอมตะ มีนโยบายการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียงเท่านั้น คนที่ขายก็ต้องเป็นโบรกเกอร์ ที่ได้รับการรับรองตามกฏหมายและได้รับการรับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ และผลตอบแทนไม่ได้สูงเท่ากับที่กลุ่มมิจฉาชีพโฆษณา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทางบริษัทก็เสียหายด้วยเช่นกันและไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมฝากถึงนักลงทุนว่าหากจะลงทุนผ่านบริษัทใด ให้ติดต่อไปยังบริษัทนั้นโดยตรงเพื่อสอบถามก่อน และตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน.