เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมกลุ่มผู้เสียหาย จากกรณีถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อทุเรียนผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากโอนเงินไปแล้วกลับไม่ได้รับทุเรียน เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. เพื่อเร่งรัดคดี เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากหลงเชื่อ และยังมีผู้เสียหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าความเสียหายนับล้านบาท โดยมี พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมร้ทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) เป็นตัวแทนรับเรื่อง

ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า ตอนนี้มีเพจเฟซบุ๊กปลอมเกี่ยวกับการซื้อขายทุเรียนออนไลน์ระบาดหนักมาก มีผู้เสียหายเป็นพันราย เฉพาะผู้เสียหายที่รวมตัวกันได้ก็หลายร้อยคน หลังมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนออกไป ก็มีผู้เสียหายแจ้งเข้ามาเรื่อยๆ มูลค่าความเสียหายตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน ทำให้คนร้ายย่ามใจก่อเหตุซ้ำๆ พอไปแจ้งความก็ไม่มีความคืบหน้า จนมิจฉาชีพกลุ่มนี้มีการไปสร้างเพจปลอมขึ้นมาหลอกประชาชนเป็น 10 เพจ วันนี้จึงอยากให้ทางตำรวจไซเบอร์รวบรวมคดีที่เคยมายื่นก่อนหน้านี้ แล้วจับกุมคนร้ายรายนี้ให้ได้ เพราะเชื่อว่าเพจที่มีการหลอกในลักษณะนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งหากมีการจับกุมแล้วก็จะทำให้ประชาชนถูกหลอกน้อยลง

คุณลักษณะพรรณ เจริญวิศาล อายุ 70 ปี เปิดเผยว่า ตนถูกเพจ Shark Chanthaboon หลอกขายทุเรียน เสียเงิน 895 บาท แจ้งความไว้ที่ สน.บางเขน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จากการตรวจสอบเพจของกลุ่มมิจฉาชีพพบว่า เปิดมานานกว่า 2 ปี มีการลงขายทุเรียนแล้วยังมีการลงขายสินค้าอีกหลายอย่าง ที่ผ่านมามีการตรวจสอบทั้งยอดไลฟ์ ยอดวิว คอมเมนต์ต่างๆ รวมถึงเลขบัญชีที่จะโอนติดแบล็กลิสต์หรือไม่ แต่ก็ไม่พบว่าติดแบล็กลิสต์ จึงทำให้มั่นใจและตัดสินใจซื้อ แต่เมื่อโอนเงินไป คนร้ายกลับบล็อกตนและติดต่อไม่ได้อีกเลย จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายมีการโอนเงินไปยังบัญชีม้าจำนวนนับ 100 บัญชี

ส่วนเพจอื่นๆ ที่มีการขายในลักษณะเดียวกัน จากการตรวจสอบพบเชื่อว่าเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากข้อมูลการลงขายคล้ายๆ กัน รูปที่เอามาลงคล้ายๆ กัน ที่ผ่านมาตนก็ซื้อสินค้าทางการเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์บ่อยครั้ง เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอีกทาง แต่พอมีการมาหลอกขายแบบนี้ จะทำให้คนไม่กล้าซื้อสินค้าทางการเกษตรอีกเลย

ทนายรณณรงค์ ระบุอีกว่า วันนี้อยากให้ตำรวจไซเบอร์ทำการขยายผลจับกุมกลุ่มคนร้ายรายนี้ เพราะเราไม่ต้องการให้มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นรายวัน ข้อสังเกตที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ คือการลงขายในราคาปกติ ทำให้ไม่มีข้อสงสัย

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำคดีทั้งหมดมาวิเคราะห์ว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ที่ผ่านมาก็มีเพจขายทุเรียนปลอมเกิดขึ้นมาหลายเพจ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการปลอมขายทุเรียนระยอง จันทบุรี แต่ตอนนี้หันมาปลอมเพจทุเรียนทางใต้ หรือปลอมมาขายตามฤดูกาล อยากฝากเตือนไปยังประชาชนทั่วไป การจะซื้อสินค้าทางเฟซบุ๊กให้ตรวจสอบจุดสีน้ำเงิน หรือบลูเช็กที่หน้าเพจ ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนจากเฟซบุ๊ก หรือตรวจสอบดูความโปร่งใสว่าเพจมีการเปิดมานานมากน้อยเพียงใด มีรายละเอียดเบอร์โทรฯ ที่ตั้ง เป็นหลักแหล่งหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกหลอก ส่วนรายชื่อบัญชีม้าที่นำมาให้ ก็จะนำไปตรวจสอบ ซึ่งการเป็นบัญชีม้าก็จะมีความผิดเช่นกัน