นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร (กม.) 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี) ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างทยอยตรวจรับงานแล้ว แต่มีบางสัญญายังมีงานต้องทำเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อตรวจรับงานทั้ง 6 สัญญาแล้วเสร็จ จะเข้าสู่ขั้นตอนการรับประกันผลงาน 2 ปีของผู้รับจ้าง ก่อนที่ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะเข้ามารับช่วงดูแลต่อไป 

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า แม้จะอยู่ในช่วงผู้รับจ้างรับประกันผลงาน 2 ปี แต่ก็มีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ รฟม. ต้องรับผิดชอบด้วย อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ทั้งนี้จากการประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา (Care of Work) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณเดือนละ 41 ล้านบาท แต่เนื่องจากปัจจุบันมีบางสัญญาที่มีงานต้องทำเพิ่มเติม ผู้รับจ้างจึงต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ทำให้ รฟม. ยังไม่ต้องจ่ายเต็มเดือนละ 41 ล้านบาท แต่หากสิ้นสุดระยะเวลารับประกันผลงาน 2 ปี และยังไม่มีผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เข้ามารับช่วงดูแลต่อ ทาง รฟม. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งหมด 41 ล้านบาท

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า ในข้อเท็จจริงเมื่อผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จ ต้องรับประกันผลงานการก่อสร้าง แต่การรับประกันผลงานไม่ใช่ว่าผู้รับจ้างจะต้องมาจ่ายค่าดูแลรักษาด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รฟม. ต้องจ่ายเอง เหมือนกับการซื้อรถยนต์ เมื่อซื้อรถยนต์มาแล้ว ก็ต้องมีค่าบำรุงรักษาดูแล และเติมน้ำมันรถ เจ้าของรถก็ต้องจ่ายเอง แต่หากรถเสียหาย และรถเรายังอยู่ในช่วงรับประกัน ทางบริษัทฯ ก็มีหน้าที่ที่ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมให้  
              
นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า รฟม. มีความตั้งใจที่จะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกก่อนอยู่แล้ว เพราะส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างงานโยธาประมาณ 5-6 ปี จึงจะติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าได้ ทั้งนี้หากภายในปี 66 สามารถลงนามสัญญาสัมปทานกับเอกชนผู้ชนะประมูลได้ ทางเอกชนฯ จะเข้าติดตั้งงานระบบฯ ส่วนตะวันออกก่อนได้ทันที คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากการเริ่มสัญญาสัมปทานโครงการฯ หรือประมาณปี 69 จะสามารถเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้  

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ รฟม. ต้องจ่ายในช่วงการรับประกันผลงานของผู้รับจ้างประมาณ 2 ปี หรือสิ้นสุดประมาณปี 68 นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และค่าบริการต่างๆ อาทิ ค่าบำรุงรักษาลิฟต์ บันไดเลื่อน ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น ซึ่งหาก รฟม. สามารถลงนามสัญญาสัมปทานกับเอกชนผู้ชนะการประมูล ซึ่งก็คือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ภายในปี 66 ก็จะทำให้ รฟม.ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกโดยไม่จำเป็น  
              
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กม. แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยล่าสุด รฟม. ส่งข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งว่า จะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทางได้ภายในปี 72.