จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ภายหลังคนร้ายกราดยิงกลางห้างสยามพารากอน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ขณะที่ตำรวจเร่งเข้าคุมพื้นที่ ก่อนจับคนร้ายได้ ซึ่งมือปืนเป็นเพียงเยาวชนชายอายุเพียง 14 ปี นามสกุลดังในสังคมและเป็นเด็กนักเรียนเรียนดี ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. โลกออนไลน์ได้เกิดกระแสพูดถึงเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่ รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ทีมยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารกรุงไทย และนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton

โดย รศ.ดร.นงนุช ระบุว่า “คำถาม 1 ผู้ก่อเหตุอายุเท่านี้เอาสิ่งที่มีกลไกเดียวกันกับปืนและกระสุนมาจากไหน” คำถาม 2 ทำไมถึงเลือกกราดยิงที่ห้างอย่างพารากอน ในเมื่อถ้าคนจะหยิบปืนไปฆ่าใครสักคน ถ้าไม่เพื่อปล้นทรัพย์ ก็ต้องมีปมกับคนหรืออะไรสักอย่างที่อยู่ในสถานที่ และเป็นที่ๆ คุ้นเคย

คำถาม 3 ต่อไปนี้ คนเดินห้าง นอกจากต้องพกร่ม ชุดกันฝนในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ยังต้องใส่ชุดกันกระสุนด้วยมั้ย
คำถาม 4 เหตุการณ์แบบนี้ ทำไมเอาอายุมาเป็นประเด็น ในเมื่อคนอายุต่ำกว่านี้ ก็ทำผิดกฎหมายกันเยอะแยะ

สิ่งที่ควรคิด ไม่ใช่ว่าเขาอายุน้อย เลยรู้สึกว่าโลกมันโหดร้ายขึ้น หรือเขามีเหตุกดดันอะไรจึงก่อเหตุ … แต่มันกำลังบอกว่า
1.คนรู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเองน้อยลง มี EQ ที่ต่ำ
2.ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ วัฒนธรรมการสอนในครอบครัว ในสถานศึกษา มีรูปแบบที่มีการผ่อนปรน ลดความรุนแรงและความเครียด มีการเอาพ่อแม่มามีส่วนร่วมในการเรียน มีการสอนด้วยเหตุผลมากขึ้น … แต่ก็ยังมีเหตุการณ์แบบวันนี้ เพราะการผ่อนปรนจนละเลยการสอนให้รู้จักกฎระเบียบ รู้จักวินัย รู้จักขอบเขตของสิ่งที่แต่ละคนพึงกระทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ควร

3.เด็กประถมปีที่ 1-4 สมัยนี้ จัดกระเป๋าไปเรียนเองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยเตือน มีกี่คน เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าที่จะสอบน่ะ สอบวิชาอะไร หัวข้ออะไร เนื้อหาเป็นยังไง ข้อสอบเป็นปรนัยหรืออัตนัย ต้องอ่านตรงไหนเป็นพิเศษ … คนที่ตอบได้คือพ่อแม่ของเด็ก … การประคบประหงมลูกแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ การเอาตัวรอด และการรับผิดชอบในหน้าที่
4.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กประถมกี่คนที่ทำการบ้านเอง หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเองทุกวัน … เมื่อพ่อแม่จัดตารางเรียนพิเศษให้ ต้องคอยมีครูประกบตลอด หรือจะต้องมีพ่อแม่คอยเตือนให้ทำการบ้าน อ่านหนังสือ … สภาพแบบนี้ เขาจะพัฒนาทักษะการมีวินัย การรู้จักกาลเทศะ ได้ยังไง

5.การเล่นเกมไม่ได้ผิดเสมอไปค่ะ เพราะบางเกมมันช่วยพัฒนาสมองพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ถ้าจะโทษต้องย้อนกลับไปถามว่าทำไมเด็กถึงต้องใช้อุปกรณ์อย่าง tablet, smartphone ในวัยเรียน ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงเรียน …. การที่เด็กมีอุปกรณ์ที่เข้าถึงเกมได้ตลอด มันเป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึงเกมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างที่ไม่มีผู้ใหญ่ควบคุมการใช้

เมื่อสมัยเด็ก ครูทำโทษเมื่อเด็กทำผิดกฎ เราก็จะรู้ว่ามันมีกฎอยู่ และเราต้องทำตาม แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ที่สปอยล์ก็ไม่ยอมให้ทำโทษ ครูก็ไม่รู้ว่าถ้าทำโทษไป จะเป็นการทำโทษเกินกว่าเหตุมั้ย เดี๋ยวโดนฟ้องร้องอะไรอีก ก็เลยไม่ทำโทษ ใช้วิธีการแจ้งพ่อแม่ แล้วพอพ่อแม่มีงานต้องทำ ไม่มีเวลาดูแล ลูกก็ไม่เคยรู้ว่าทำผิด … แถมกฎหมายก็อะลุ่มอหล่วยให้เด็กไม่ต้องรับโทษเพราะคำว่า “สิทธิมนุษยชน”

ความจริงแล้ว “สิทธิมนุษยชน” มีขอบเขตนะคะ ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนหรือ human right ที่เท่าเทียม แปลว่าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศไหน อาชีพอะไร ตำแหน่งใด ก็ควรต้องรับโทษแห่งการกระทำเท่ากันค่ะ …. กรรม เวลามันทำงาน ยังไม่เห็นเลือกอายุ เพศ อาชีพ ตำแหน่ง ฐานะอะไรเลย บทจะโดน ก็โดนเท่ากัน เงื่อนไขที่จะทำให้รับกรรมต่างกัน คือ กรรมที่ทำไปนั้นแตกต่างกัน เป็นกรรมที่เกิดขึ้นโดยเจตนาหรือไม่เจตนา

“… การจะมาบอกว่าหลอน มีคนบอกให้ทำ ถ้ารู้จักมีสติ ควบคุมความรู้สึกของตัวเอง รู้จักผิดชอบ มันจะไม่มาถึงจุดนี้… ในเมื่อเป็นเด็กเรียนดี เก่งขนาดทำอาวุธขึ้นมาเอง แปลว่าฉลาด ย่อมรู้ช่องโหว่ของกฎหมาย … แล้วจะปล่อยให้มีพฤติกรรมเลียนแบบอีกกี่ราย หรือควรจะทำโทษให้เป็นมาตรฐาน ตัวอย่างให้เห็นว่า ทำผิด ก็ต้องรับโทษตามการกระทำนั้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ #ให้เจตนาเป็นตัวตัดสินโทษไม่ใช่อายุ”

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Dr. Nuch Tantisantiwong