เมื่อวันที่ 7 ต.ค. น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยรับทราบถึงข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งมีทั้งบวกและลบจากทั้งนักวิชาการบางส่วน จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้ 1. ที่มาของออกนโยบายดังกล่าว มาจากการที่พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ และพี่น้องเกษตรกร ต่างต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก จากปัญหาที่สะสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทำให้ชีวิตของประชาชนสะดุดจนติดลบ จนทำให้หนี้ครัวเรือนปี 2563 พุ่งขึ้น 10 เท่าจากปี 53 และในไตรมาส 1 ปี 66 อยู่ที่ 90.6% ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนมาถึงปัจจุบัน หนี้ที่เพิ่มขึ้นเพราะประชาชนอ่อนแอเปราะบาง เป็นที่มาของการลดรายจ่าย

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า จากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดพบว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ (fiscal multiplier) คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1-1.6 ล้านล้านบาท และประเมินจีดีพีไทยในปี 67 จะขยายตัวได้ถึง 5-7% แม้ถูกมองว่าเป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการเริ่มต้นปูพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจในปี 67 เพื่อที่ในปีต่อๆ ไป การลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามามากขึ้น เป็นที่มาของการเพิ่มรายได้ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ค่าแรง 600 บาทใน 4 ปี และเงินเดือนปริญญา 25,000 บาทที่กำลังจะตามมา

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า 3.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ยังมีหลากหลายโครงการที่รัฐบาลเตรียมการไว้ด้วยเช่นกัน เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์, โครงสร้างพื้นฐาน ที่ จ.ภูเก็ต, โครงการอีอีซี และระบบขนส่งมวลชนต่างๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สามารถดำเนินควบคู่กันไปกับโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว 4.ขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กนง. ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 0.25% เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดกัน 8 ครั้ง นับตั้งแต่ 10 ส.ค. 65 อาจส่งผลให้การลงทุน และการส่งออกของไทยหดตัวลงได้ ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ควบคู่การลดรายจ่ายให้กับประชาชนระดับฐานรากของสังคม และการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เป็นทางออกที่เหมาะสม และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้

“พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล มองภาพใหญ่ มองภาพรวมของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ที่ สส. พื้นที่เราได้รับฟังเสียงสะท้อนมาตลอด ที่ผ่านมาไม่มีใครบอกว่าไม่อยากได้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มีเพียงคำถามว่าเมื่อไรจะได้เงินหมื่น ข้อกังวลเรารับทราบ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการเราเปิดรับเสมอ แต่อยากให้คนที่คัดค้าน ฟังเสียงประชาชนร่วมด้วย คนที่เขารอรับ เขาอาจเสียงไม่ดังเหมือนพวกท่าน แต่พวกเขาเดือดร้อนและรออยู่” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

ด้าน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อและอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำทีมลงนามร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ยื่น 6 เหตุผลให้ยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป 560,000 ล้านบาท เฉลี่ย 56 ล้านคน โดยอ้างว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศนั้น น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไป และจะทำให้เสียวินัยการเงินการคลังในระยะยาว ว่า นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้อยู่ส่วนบนของยอดพีระมิดทางเศรษฐกิจ อาจมองจากมุมเดิมๆ หรือมองจากแค่มิติเดียว อยากให้ผู้สื่อข่าวลองไปสอบถามกรณีเงินดิจิทัลจากมุมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดกับวิกฤติเศรษฐกิจ 9 ปีที่ผ่านมากันดูบ้างว่า คิดเห็นอย่างไรกับเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจก จะมองจากมุมนี้หรือดาวไหนก็เห็นว่าประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง ยากจนเป็นหนี้กันทั่วหน้า เอสเอ็มอีล้มหายตายจากถูกฟ้องดำเนินคดีกันมากมาย จะผิดอะไรถ้ารัฐบาลจะช่วยประชาชนให้ฟื้นตัว มันก็ต้องกระตุ้นที่หัวใจ รดน้ำที่ราก เติมเงินให้ประชาชน กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการผลิตครั้งใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน คนมีเงินก็จะกล้าเอาเงินมาลงทุน เพราะจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การทำโครงการขนาดใหญ่วันนี้ ตนเชื่อว่าน่าจะยังไม่ทันกับงบประมาณปี 67 เพราะตั้งรัฐบาลช้า การจัดทำงบประมาณล่าช้าเกือบครึ่งปี ถ้าคิดแบบเดิมๆ เหมือนที่อดีตผู้ว่าการ ธปท.และนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้แนะนำ ก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม ตนไม่อยากให้ขวางโลกหรือย่ำอยู่กับที่ เหมือนตอนที่ท่านเป็นผู้ว่าการ ธปท. ในยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เศรษฐกิจไม่ฟื้น ซึมยาวเหมือนคนป่วยหนักมาถึงทุกวันนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภาระที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะต้องแก้ไข

”ผมเชื่อว่าเพื่อไทยคิดใหญ่ทำเป็น เคยทำสำเร็จมาแล้วหลายครั้งหลายหนในอดีต การคิดนอกกรอบ การมีนโยบายใหม่ วิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ประชาชนก็เคยเห็นกันมาแล้ว โครงการใหม่ๆ ในขณะนั้น เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน 76,000 ล้านบาท ตอนนั้นก็ถูกคัดค้านติติง บ้างก็ล้อเลียนว่าตายทุกโรค อ้างทำไม่ได้เอาเงินมาจากไหน แล้วสุดท้ายเป็นยังไง สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกก็ตั้งมากมาย จะผ่านมาหลายรัฐบาลประชาชนก็ยังใช้กันอยู่ การติเพื่อก่อ ผมเชื่อว่ารัฐบาลเพื่อไทยยินดีรับฟัง แต่ถ้าอ้างว่าเป็นห่วงแต่แฝงวาระซ่อนเร้นจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียหาย เสียโอกาสในการฟื้นเศรษฐกิจ ก็ในเมื่อโลกมันเปลี่ยนเราก็ต้องรู้จักปรับ อ้างกลัวโน่นนี่นั่นแล้วจะเดินต่อกันยังไง ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี ผมเชื่อวันนี้ประชาชนรอดูรอพิสูจน์ผลงาน ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยทำดีคิดถูกก็จะสนับสนุน แต่ถ้าทำผิดทำพลาด เกิดความเสียหาย ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า“ นายพร้อมพงศ์ กล่าว.